โรดโชว์จุดพลุอีอีซีดี ขึ้นฮับภูมิภาคชงเพิ่มจุดจอดรถไฟเร็วสูงดึงลงทุน

12 พ.ย. 2560 | 04:08 น.
อีอีซีดีเดินหน้า เร่งจัดทำแผนแม่บท ตามภารกิจ 5 ด้าน จี้กรมบัญชีกลางจัดสรรงบโรดโชว์ 4 ประเทศดึงนักลงทุน หลังหารือกับ 10 บริษัทชั้นนำด้านดิจิตอลไปแล้ว พร้อมให้สนข.ไปพิจารณาเพิ่มสถานีจอดรถไฟความเร็วสูงศึกษาแล้วจำเป็นในการดึงดูดการลงทุน

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดีป้าเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล หรืออีอีซีไอว่า ขณะนี้สำนักงานอีอีซีดี ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกสท.และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำลังอยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่โครงการดิจิตอลพาร์คไทยแลนด์

tp11-3312-a ทั้งนี้ จะแบ่งภารกิจการขับเคลื่อนออกเป็น 5 แผนงานหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิตอลของประเทศ ประกอบด้วย การจัดทำแผนแม่บทการดำเนินงานเขตอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล ได้แก่ แผนธุรกิจ รูปแบบการลงทุน และการออกแบบก่อสร้าง เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแก้ร่างแรกของแผนแม่บทในการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ราว 700 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี รวมถึงจัดทำแผนส่งเสริมการลงทุนยกระดับโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ตามแนวเส้นทางการขยายการค้าของจีน (Fiber One Belt One Road) โดยในเบื้องต้นอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของการเชื่อมโยงสถานีเคเบิลใต้นํ้าที่ศรีราชาเชื่อมกับโครงข่ายภาคพื้นดินที่ต่อจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค

โดยเฉพาะการส่งเสริมและชักจูงการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิตอล ในกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่เป็นธุรกิจชั้นนำระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือเบื้องต้นกับนักลงทุนในกลุ่มเป้าหมาย 10 ราย อาทิ Google, Amazon, Celestica, Seagate, IBM, Huawei, AliCloud,Cisco, Asean Korea Trade Investment และขณะนี้กำลังรองบประมาณจากกรมบัญชีกลาง เพื่อจะออกไปชักจูงนักลงทุนหรือโรดโชว์ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และเกาหลี โดยแผนกิจกรรมโรดโชว์ดังกล่าวจะสิ้นสุดราวปลายเดือนมีนาคม2561แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับงบประมาณมา ซึ่งอยากให้รัฐเร่งพิจารณาในส่วนนี้

อีกทั้ง การพัฒนากำลังคนดิจิตอลรองรับนักลงทุน ซึ่งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมาได้เห็นชอบการขอวีซ่าผู้เชี่ยวชาญ (Tech Visa) ไปแล้ว เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลเข้ามาทำงาน

รวมถึงการยกระดับและสร้างอุตสาหกรรมดิจิตอลแห่งอนาคตโดยจัดตั้งสถาบันไอโอที ขึ้นเป็นโครงการนำร่องเพื่อสร้างอุตสาหกรรมIoTที่เป็นอุตสาหกรรม S-Curveและเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีดิจิตอลของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี

สุดท้ายการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมนวัตกรรมดิจิตอล ที่จะมีการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พัฒนาพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรมและภายในนิคมอุตสาหกรรม Smart City

อย่างไรก็ตาม จากการจัดทำแผนแม่บทเบื้องต้นพบว่า หากจะให้อีอีซีไอ ดึงดูดนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลจากต่างประเทศได้ จะต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงพื้นที่ภายในอีอีซีไอกับการเดินทางไปยังสนามบินทั้ง 3 แห่ง ซึ่งที่ประชุมกรศ.ก็ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ไปพิจารณาว่าจะสามารถเพิ่มจุดจอดสถานีรถไฟความเร็วสูงยังอีอีซีไอได้ด้วยหรือไม่ และหากไม่สามารถดำเนินการได้ อาจพิจารณาระบบขนส่งเสริม (Feeder System) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีใกล้เคียง ซึ่งกำลังรอคำตอบอยู่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว