สยยท.ชง8มาตรการเร่งด่วนแก้ราคายางตกต่ำ

06 พ.ย. 2560 | 06:08 น.
วันนี้ ( 6 พ.ย.60 ) เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดสุราษฏร์ธานี นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้เกี่ยวข้องด้านยางพารา เพื่อหาข้อสรุปถึงแนวทางแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ (ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อมิให้เกิดปัญหาซ้ำซากโดยมีมติเป็นแนวทางร่วมกัน 9 มาตรการเร่งด่วน

1.ปัจจุบัน ราคายาง ราคาแผ่นดิบ ราคา 43 บาท/กก ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. กำหนดไว้ 63.65 บาท/กก. ซึ่งต่างกันประมาณ 20 บาท/กก. จึงเป็นเหตุให้ชาวสวนยาง และคนกรีดยางต่างเดือดร้อน เนื่องจากการบริหารของ กยท.ที่ผิดพลาด ดังสาเหตุ

1.1. ปัญหาที่ กยท.ระงับการซื้อขายยาง 3 ตลาด ที่สงขลา สุราษฏร์ธานี บุรีรัมย์ ซึ่งตลาดได้เปิดมาแล้วเป็นเวลา 30 ปี ได้สร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรมาตลอด แต่ กยท.สั่งระงับการซื้อขายในครั้งนี้ ทำให้ขาดความเชื่อถือทั้งจากภายในและต่างประเทศ และถือโอกาสกดราคาทันที
1.2ในการที่ กยท.ร่วมทุนกับ 5 เสือ และมอบให้ BU เป็นผู้จัดซื้อยางเพื่อชี้นำราคา BU ซื้อยางไม่ครบทุกตลาด เลือกตลาดที่มีน้อยและให้ราคาสูง แตกต่างกับอีก 5 ตลาด ถึง 3-4 บาท/กก. เป็นการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง

ut

1.3 การกำหนดราคากลางของ กยท. มีกฎเกณฑ์ ที่ซื้อสูงหรือต่ำ 2 บาท งดการซื้อขาย ซึ่งทำให้กลไกตลาดเสียหาย เกษตรกรขนยางเข้าตลาด ขายไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนจนเกษตรกรไม่มีอะไรจะกิน ขนยางออกจากข้างนอก ถูกกดราคา ดังนั้นควรยกเลิกราคากลางและปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
1.4 กยท. จัดซื้อยาง แล้วไม่ได้เตรียมแผนในการนำยางไปอัดก้อน(ลูกเต๋า) และกระจายไปโรงรมควัน กยท.กองยางสุมทิ้งไว้ จนยางเหนียวติดกันแน่น และจะกลายเป็นยางคัดทิ้ง ส่งผลให้ราคายางจะตกลงทันที ซึ่งสร้างความเสียหายให้ กยท. และประเทศชาติด้วย

1.5 กยท. ควรออกแนะนำการใช้ยาเพิ่มผลผลิตตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง ซึ่งจะเพิ่มผลผลิตอีก อย่างน้อย 1 เท่าตัว แต่ต้องใช้กับอายุยาง 15 ปี ขึ้นไป นับแต่วันปลูก และควรจ่ายปุ๋ยบำรุงเพิ่มโดยกรีด 1 วัน เว้น 2 วัน (วันหยุดกรีดไปหารายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง ต้นยางจะไม่เสียหายเพราะเมื่อราคายางในมาเลเซียตกต่ำ จะแจกยาเร่งน้ำยางและปุ๋ยให้เกษตรกร เพื่อแก้ปัญหา ฟรีๆ

2.สรุปแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางโดยเร่งด่วนแล้ว สยยท.มีมติ เป็นเอกฉันท์ดังนี้
2.1 ให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ปลดผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการยางออกตามเหตุผลที่ สยยท. เสนอมาข้างต้นเพราะบริหารงานผิดพลาด
2.2 ให้มีการสรรหาผู้ว่าการยางฯ คนใหม่ที่เป็นมืออาชีพมีความรอบรู้เรื่องยางพารา และเปิดโอกาสรับฟังเสียงของทั้งผู้ประกอบการ และเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเฉพาะจะต้องดูแลเรื่ององค์กร กยท. ไม่ให้เกิดความแตกแยกแบ่งเป็น 2 มาตรฐานอย่างที่ผ่านมา ทำให้พนักงานบางคนไม่มีขวัญและกำลังใจปฏิบัติงาน

ru1

2.3 ให้มีการทบทวนกฏระเบียบบางมาตราใหม่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทั้งทางด้านของการดำเนินงานและการให้บริการต่าง ๆ
2.4 ให้สร้างความเชื่อมั่นตลาดกลางยางพารา 6 ตลาด ของ กยท. ในการชี้นำราคายางที่เป็นไปตามความเป็นจริงของตลาดโลก
2.5 ให้เร่งรื้อฟื้นตลาดท้องถิ่นของกยท. 108 ตลาดทั้งหมด ให้ดำเนินการซื้อขายยางโดยด่วน เพราะได้ของบไปซื้ออุปกรณ์มาปีเศษแล้ว

2.6 สนับสนุนสถาบันเกษตรกรรายย่อยที่รับซื้อยาง โดยให้เงินทุนกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อแบ่งเบาภาระการรับซื้อยางจากเกษตรกร
2.7 รีบดำเนินการจัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราตามมาตรา 10(6) เพื่อเป็นการเชื่อมโยง 6 ตลาด ,108 ตลาด และรวมทั้งตลาดเกษตรกร เพื่อดำเนินการธุรกิจซื้อขายยาง และเพื่อใช้เป็นตัวกลางของการรวบรวมและจัดหาตลาดผลิตภัณฑ์ยางของเกษตรกรที่ทำอาชีพเสริม

3. สยยท.ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรชาวสวนยาง เรื่องการจ่ายปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ที่การยางพาราแห่งประเทศไทย ( กยท.) จ่ายนั้นมีราคาแพงกว่าราคาท้องตลาดทั่วไป และปุ๋ยที่ได้ไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้ต้นยางไม่เจริญเติบโต และเกิดปัญหาการล่าช้าในการจ่ายปุ๋ยให้เกษตรกรไม่ทันตามกำหนด คือ ปุ๋ยต้นฝนจ่ายในช่วงเกือบหมดฝนไม่ทันต่อการใช้ปุ๋ย ดังนั้นเกษตรกรชาวสวนยางจึงเรียกร้องต้องการให้ กยท. เปลี่ยนรูปแบบวิธีการจ่ายเป็นจ่ายเงินแทนเพื่อที่เกษตรกรจะได้นำเงินไปจัดซื้อเองสามารถตรงกับความต้องการช่วงฤดูของการใช้ปุ๋ย และหรืออาจผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง เพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตในช่วงที่ยางพารามีราคาตกต่ำ

4. ตามที่ กยท. เตรียมการให้มีการประมูลปุ๋ยในปีพ.ศ. 2561 โดยที่ปุ๋ยในปี 2560 ยังจ่ายให้เกษตรไม่ครบหมด เกษตรกรเรียกร้องขอให้ กยท. จ่ายเป็นเงินสด เพื่อที่เกษตรกรจะได้ไปจัดซื้อเองดังตัวอย่างเช่นในอดีตที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ (คุณปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ) ได้ปรับรูปแบบเป็นจ่ายเป็นเงินสดเพื่อให้ เกษตรกรนำเงินไปจัดซื้อปุ๋ยเคมีเองหรือนำเงินไปลงทุนทำปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อ เป็นการลดต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่ง

ru2

5. ให้กยท. วิจัยและพัฒนาหรือสรรหาพันธุ์ยางพาราใหม่ ๆ ที่ดีกว่าปัจจุบัน เพื่อให้คุ้มต้นทุนการผลิต และควรหาพันธุ์ยางที่ผลผลิตน้ำยางไม่น้อยว่า 400 กิโลกรัม /ไร่/ปี อาทิเช่น RRIT 251 เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนและปัญหาคนกรีดยางหนี รวมทั้งเพื่อเป็นการรองรับการเกิดโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

6. ให้กยท. สนับสนุน ให้เกษตรกรชาวสวนยางทำอาชีพเสริม เพื่อเมื่อยางราคาตกต่ำจะได้หยุดกรีดยาง เพื่อให้ยางขาดตลาด ราคาจะขึ้นทันที
6.1 ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรกรแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 คือมีการปลูกพืชร่วมยางพืชแซมยาง ขุดสระ เลี้ยงปลา ไก่ หมูหลุม ในการขุดสระนั้น กยท.จะต้องไม่ตัดเงินสงเคราะห์ในพื้นที่ขุดสระ
6.2 ส่งเสริมให้ทำอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อเพิ่มมูลค่ายาง และให้คนกรีดยางมีงานทำอีกด้วย
6.3 โรงรมยาง โรงอัดยาง โกดังยาง ไม่ควรทิ้งขว้างปล่อยให้รกร้าง ควรมอบให้สถาบันเกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อมิให้ศูนย์เสียงบประมาณแผ่นดินไป

7. เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ รัฐบาลควรสนับสนุนให้คนอยู่กับป่า โดยวางกฎเกณฑ์ให้ปลูกพืชร่วมยาง ทำให้ธรรมชาติกลับคืนมา และพื้นที่ๆมี ภบท. 5 ในสมัยก่อนขอโค่นยางปลูกแทนได้ สกย. ยอม แต่ปัจจุบันทำไม่ได้ ทั้งๆที่เป็นสวนยางเดิม ควรหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อความมั่นคงของเกษตรกร

8. แนวทางแก้ไขปัญหายางพาราเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)
8.1 ในช่วงที่ราคายางตกต่ำ เป็นกรณีเร่งด่วน ควรสั่งให้ กยท. ลดอัตราจัดเก็บเงิน Cress เป็นการชั่วคราว จาก 2 บาท/กก. เป็น 1.40 บาท/กก. (เท่ากับมาเลเซีย) เพื่อให้ลดการหนีภาษีน้อยลง และเป็นข่าวที่จะทำให้ตลาดล่วงหน้าต้องระมัดระวังการซื้อขาย

8.2 การที่รัฐบาลสนับสนุนให้หน่วยราชการใช้ยาง อาทิ สนามฟุตซอล สนามเด็กเล่น กรวยจราจรยาง บังเกอร์ยาง หมอนที่นอนยาง ฯลฯ และในการที่ใช้ยางพาราผสมยางมะตอย เพื่อให้ถนนคงทนแต่กระทรวงคมนาคม ยังดำเนินการอย่างไม่เป็นรูปธรรม ถ้าประกาศใช้ทั้งประเทศ ราคายางจะกระเตื้องขึ้นทันที

ru3

8.3 ควรสั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ ให้ตรงกันทุกพื้นที่เป็นตัวเลขเดียวกันหมดทั่วประเทศ เพื่อสะดวกต่อการทำงาน ปัจจุบันตัวเลขไม่ตรงกันถึง 4 หน่วยงาน
8.4 ในการกำหนดต้นทุนการผลิตยางแตกต่างกันควรมอบหมายให้ สศก. รับผิดชอบตัวเลข ให้คิดจากฐานเดียวกัน และใช้เป็นตัวเลขเดียวกันทั้งประเทศ เพราะปัจจุบันเกษตรกรสับสนมากและแต่ละหน่วยรายงานไม่ตรงกัน

8.5 ในการที่ผู้ขายยางต่างประเทศบางคน ได้เสนอขายราคายางต่ำกว่าต้นทุนการผลิตภายในประเทศ สมควรที่จะใช้ พรบ. ควบคุมยาง พ.ศ.2542 แก้ปัญหาในการออกกฎหมายลูกเพื่อแก้ปัญหาในการเสนอขายที่ตัดราคากัน แต่สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกร
8.6 บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCO) ควรจะต้องดำเนินการตามข้อตกลงใน บาหลีเรคกูเลชั่น ที่ร่วมมือกัน 3 ประเทศให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

8.7 เนื่องจากราคายางขึ้นอยู่กับตลาดล่วงหน้า ที่มีการซื้อการขายเกินความจริง จึงทำให้ราคายางผันผวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกระทบต่อต้นน้ำ (เกษตรกร) กลาง (ผู้ประกอบการยาง) ปลายน้ำ (อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ตลาดยาง) มีปัญหาแทบทุกปี ทาง กยท. ได้ทำยุทธศาสตร์ 20 ปี ใช้เงินไปเกือบ 10 ล้าน แต่ไม่ตอบโจทย์

ru4

ดังนั้นขอให้ นายกรัฐมนตรี จะต้องสรรหาใช้คนเก่งคนดีที่รอบรู้เรื่องยางมาปฏิรูป เพราะยางพาราทำรายได้ให้ประเทศเป็นอันดับหนึ่งของสินค้าเกษตรกร แต่ระบบโครงสร้างไม่เอื้อกัน ซึ่งจะทำให้เกษตรกร และพ่อค้าผู้ประกอบการเกิดความเสียหายกลายเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขซ้ำซาก ทุกปีจะต้องมาแก้กันทุกปี โดยไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลย ซึ่งหากรัฐบาลมีความพร้อมทุกด้าน ควรที่จะต้องเร่งรัดให้เกิดการปฏิรูปทั้งระบบ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อความมั่นคงในอาชีพยางพาราและประเทศชาติ

e-book-1-503x62