เปิดโมเดล ‘คลื่น 900-1800’ เงินประกันแพงลิบ! หวั่นซ้ำรอย ‘แจส’

12 พ.ย. 2560 | 08:58 น.
1545

ในที่สุด! คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้สรุปหลักเกณฑ์ร่างประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ

| เคาะร่าง 900-1800 |
เป็นเพราะคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของ ‘ดีแทค’ หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท ในวันที่ 15 ก.ย. 2561 คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่หมดสัญญาต้องคืนกลับมายัง กสทช. เพื่อนำออกมาประมูล สำหรับคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ใช้คลื่นจำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ ในช่วง 1740-1785 / 1835-1850 แบ่งออกเป็น 3 ชุด ใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ อายุสัญญา 15 ปี โดยราคาเริ่มต้นประมูล คือ 37,457 ล้านบาท เคาะราคา 75 ล้านบาทต่อรอบ

| จับคลื่น 900 ประมูลอีกรอบ |
ขณะที่ คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ นั้น กสทช. ได้ยึดหลักเกณฑ์เดิมของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้กำหนดไว้ กล่าวคือ คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ปัจจุบัน มีจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ นำออกมาประมูลจำนวน 1 ใบอนุญาต จากเดิม กสทช. มีคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ แต่ได้นำคลื่น 5 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับกระทรวงคมนาคม เพื่อทำระบบสื่อสัญญาณรถไฟความเร็วสูงไปแล้ว ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 37,988 ล้านบาท ขณะที่ ราคาประมูลในแต่ละรอบ อยู่ที่รอบละ 76 ล้านบาท


MP20-3311-1A



| หวั่นซ้ำรอย ‘แจส’ |
หลังจาก ‘แจส โมบาย’ ได้ทิ้งใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และโดนยึดเงินประกันเข้าประมูล จำนวน 644 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการประมูลอีกจำนวน 199.42 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 842.42 ล้านบาท

แต่ทว่าการประมูลคลื่น 900 จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ ครั้งนี้ กสทช. กำหนดหลักประกันการประมูลใหม่ เป็น 1,900 ล้านบาท ส่วนค่าปรับกรณีไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เมื่อประมูลได้แล้ว จำนวน 5,699 ล้านบาท (15% ของราคาขั้นต่ำ) ขณะที่ ผู้ชนะประมูลจะแบ่งการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็น 4 งวด ปีแรกภายใน 90 วัน ขั้นต่ำ 4,020 ล้านบาท ปีที่ 2 ขั้นต่ำ 2,010 ล้านบาท, ปีที่ 3 จำนวน 2,010 ล้านบาท และปีที่ 4 ชำระส่วนที่เหลือทั้งหมด


MP20-3311-A

สำหรับคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ หลักประกัน 1,873 ล้านบาท ค่าปรับกรณีไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประมูล 5,619 ล้านบาท (15% ของราคาขั้นต่ำ) แบ่งการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็น 3 งวด งวดแรกชำระภายใน 90 วัน ขั้นต่ำ 50% ของราคาที่ประมูลได้, งวดที่ 2 ที่ 25% และงวดที่ 3 ที่ 25%

ส่วนในวันที่ 6 พ.ย. นี้ เตรียมนำร่างหลักเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการด้านโทรคมนาคม และนำเข้าที่ประชุม กสทช. วันที่ 8 พ.ย. 2561 รวมถึงจะเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก่อนจะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และคาดว่า จะออกประกาศหลักเกณฑ์ได้ภายในเดือน ม.ค. 2561

“หากการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ เสร็จสิ้นภายในเดือน ม.ค. 2561 สำนักงาน กสทช. จะนำร่างหลักเกณฑ์เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ก่อนนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา” นายฐากร กล่าว

การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ หนีไม่พ้นกลุ่มทุนสื่อสารรายเดิมที่จะเข้าประมูลเหมือนเช่นเคย ส่วนรายใหม่ที่ไม่มีฐานลูกค้า และโครงข่ายมือถือ เข้ามาก็มีแต่เสียกับเสีย ยกเว้นเสียแต่มาเป็นตัวล่อเท่านั้น


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5-8 พ.ย. 2560 หน้า 20

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว