สนช. ไฟเขียว! ‘รีเซต ป.ป.ช.’

12 พ.ย. 2560 | 07:43 น.
1431

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (พ.ร.ป. ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ 200 ต่อ 0 เสียง รับหลักการวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นหนึ่งในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องจัดทำให้เสร็จใน 240 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 9 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ ส่วนที่ขาดคุณสมบัติให้พ้นจากตำแหน่งในทันที โดยให้อำนาจคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้ขาดคุณสมบัติของกรรมการชุดปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ที่ขาดคุณสมบัติ 9 ราย ต้องพ้นจากเก้าอี้ 7 ราย หากร่าง พ.ร.บ. ไม่มีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ และชั้นการพิจารณาของ สนช. วาระ 2-3 ประกอบด้วย

 

[caption id="attachment_227194" align="aligncenter" width="443"] พล.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ พล.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ[/caption]

1.พล.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เนื่องจากเคยเป็น รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนจะมาเป็นประธาน ป.ป.ช. พ้นตำแหน่งยังไม่ถึง 10 ปี

2.นายปรีชา เลิศกมลมาศ ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ แต่นับเวลาดำรงตำแหน่งจนถึงวันเข้ารับการสรรหา ยังไม่ถึง 5 ปี

3.พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตจเรตำรวจ ซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี แต่ทว่าเมื่อนับเวลาดำรงตำแหน่งจนถึงวันเข้ารับการสรรหา ไม่ครบ 5 ปี เช่นเดียวกัน

4.นายณรงค์ รัฐอมฤต เคยเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช. นับเวลาดำรงตำแหน่ง ยังไม่ถึง 5 ปีเช่นกัน

5.นายวิทยา อาคมพิทักษ์ อดีตกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้าม

6.พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ซึ่งแม้ว่าจะเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณกลาโหม แต่ยังไม่แน่ว่าเทียบเท่าอธิบดีได้หรือไม่ หากให้เทียบเท่า แต่เมื่อนับเวลาการดำรงตำแหน่งจนถึงวันรับสรรหา ก็ยังไม่ครบ 5 ปี

และ 7.น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ซึ่งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง แม้ว่าจะเทียบเท่าอธิบดี แต่อยู่ในตำแหน่งยังไม่ถึง 5 ปี


บาร์ไลน์ฐาน

นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังให้ยกเลิก ‘คณะกรรมการ ป.ป.ช.ประจำจังหวัด’ และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ร่ำร่วยผิดปกติ, ทุจริตต่อหน้าที่ และกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งยังกำหนดระยะเวลาการไต่สวนให้ต้องดำเนินการกับวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เริ่มดำเนินการ กรณีที่มีเหตุจำเป็น อาจขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 2 ปี โดยต้องแจ้งให้ประชาชนทราบด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช. ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 200 เสียง, ไม่เห็นด้วย ไม่มี, งดออกเสียง 4 เสียง และมีกรอบเวลาการทำงาน 58 วัน อาทิ นายวิชา มหาคุณ, นายกล้าณรงค์ จันทึก, พล.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ, น.ส.สุภา ปิยะจิตติ, พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุววรณ


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5-8 พ.ย. 2560 หน้า 14


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว