แฉกยท.ปิดตลาดเอื้อนายทุนตกเขียวยาง-เรียกร้อง"ฉัตรชัย" รับผิดชอบ

03 พ.ย. 2560 | 04:30 น.
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการที่ นายธีธัช สุขสะอาด เปิดโต๊ะแถลงข่าวประเด็นสถานการณ์ราคายางพาราอ้างว่าเป็นการขึ้นลงตามกลไกตลาดโลก ตรงนั้นไม่ว่ากัน แต่ทำไมบริหารกันแบบไหนจึงทำให้ระบบตลาดกลาง ซึ่งเป็นตลาดอ้างอิงราคาซื้อขายจนนำไปสู่การปิดตลาดกลาง จนเป็นข่าวดังทั่วโลกในขณะนี้ จนทำให้ดูเหมือนว่าผลผลิตยางในประเทศล้น เป็นภาพเชิงลบอย่างมาก นับว่าเป็นการบริหารงานที่ผิดพลาด ที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯพยายามเสนอแก้ปัญหา แต่ไม่ฟัง!! ส่งผลทำให้เกิดกระแสต่อต้านผู้บริหาร กยท.โจมตีมากมายตัวการทำลายระบบตลาดกลาง ก็คือ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน จำกัด นี่แหละตัวปัญหา ที่ทำลายระบบตลาด จนต้องหยุดการประมูล และเกิดการประมูลล่ม

" 1. บริษัทร่วมทุนใช้อภิสิทธิ์ในการฉีกระเบียบตลาดกลางยางพารา โดยไม่นำยางที่ประมูลได้ขนออกจากตลาดภายใน 3 วัน ส่งผลทำให้เกิดยางล้นเพราะไม่มีที่ว่างให้ซื้อขายในตลาดได้ 2.จงใจที่จะประมูลสูงเกินความเป็นไปได้ของตลาด หรือบิดเบือนความต้องการของตลาดราคาสมดุล 3. การสร้างช่องว่างของราคาประมูล เพื่อให้เกิดปัญหาราคากลางของแต่ละวัน 4.การประมูลตลาด ยะลา บุรีรัมย์ ที่สูงมาก เพื่อใคร การกระทำดังกล่าวของบริษัทร่วมทุนทำให้เกิดปัญหานำไปสู่เกษตรกรถูกพ่อค้าราคาจากภายนอกตลาด"

rubbr

นายธีระชัย กล่าวต่อว่าบริษัทร่วมทุน สร้างปัญหาครั้งนี้ใหญ่หลวงมาก ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ การทำลายตลาดกลาง จนเป็นอัมพาธ เพราะยางแผ่นดิบ เมื่อเกษตรกรตัดสินใจที่จะนำยางเข้ามาขายในตลาดแล้ว แต่บางวันเจอราคายางขาลง หรือถ้าซวยสุดวันนั้นตลาดกลางยกเลิกประมูล อ้างว่าราคาต่ำหรือสูงกว่าตลาด 2 บาทจำเป็นต้องยกเลิก เมื่อถูกยกเลิกเกษตรกร ก็กลัวปัญหายางแผ่นดิบที่บรรทุกใส่รถเสียหายตกเกรด หรือเหนียว จึงจำเป็นต้องยอมขายราคาพ่อค้าที่คอยตกเขียว
"ผมถามว่าใครได้ประโยชน์ นี่คือขบวนการนอกระบบ ส่วนราคากลางกำหนดเป็นเรื่องที่ดี แต่จะต้องแก้ไข เช่น ไม่ควรกำหนดราคาจากภายใน 3 ตลาดเฉลี่ย ควรหาวิธีใหม่ที่ดีกว่านี้ แต่ท้วงติงก็ไม่ฟัง
สำหรับนโยบายหมื่นล้าน ก็ยังไม่ชัดเจนหลายเรื่อง เช่น เงินประกันโครงการ ใครจ่าย จนบัดนี้กู้เพิ่มก็ไม่ได้ กยท.ทำงานในฐานะเลขาโครงการฯ ทำงานล่าช้า มัวแต่ทำอีเว้นเรื่องประชุม มากกว่าการปฏิบัติงานหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนเงินโครงการชวยเหลือผู้ประกอบการน้ำยางข้น มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่กี่บริษัท ประโยชน์ไม่ตกถึงเกษตรกร ส่วนโครงการสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยาง( ยางแห้ง) สองหมื่นล้านอีก เช่นเดียวกัน ถามว่ามีประโยชน์ตรงไหนกับเกษตรกร สองโครงการนี่อุ้มนายทุน!! ส่วนโครงการสินเชื่อสถาบันเกษตรกร ทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เริ่มทวงดอก แล้วในหลายจังหวัด นี่เป็นข้อสังเกตว่าสองมาตรฐาน"

นายธีระชัย เผยว่า ตามที่ที่เครือข่ายประชุมที่สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา ได้มีมติและเสนอผ่านผู้ว่าการการยางฯ 5 ข้อ จะต้องปฏิบัติ จะแก้ปัญหาตลาดกลางได้ อย่าเล่นปาหี่ อีกเลย อย่าใช้หน่วยธุรกิจ หรือบียู ทำลายเหมือนใช้บริษัทร่วมทุน ทำลายตลาด จนนำไปสู่ช่องว่างราคา ทำให้เกิดการหาผลประโยชน์ บนคราบน้ำตาชาวสวนยางอีกเลย ผู้รับผิดชอบ โครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงบริษัทร่วมทุนหรือ เงินกู้ที่ไม่ก่อเกิดประโยชน์ ถึงเกษตรกร โดยผู้รับผิดชอบสูงสุดคือ ผู้กำกับดูแล คือ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ต้องรับผิดชอบ

e-book