กรมชลฯวางแผนระบายน้ำออกจากทุ่งรับน้ำคงเหลือไว้ปลูกข้าว-แม่น้ำยมลดลงต่อเนื่อง

02 พ.ย. 2560 | 11:38 น.
กรมชลประทานวางแผนระบายน้ำออกจากทุ่งรับน้ำ เริ่มทยอยนำน้ำออกจากทุ่งบางระกำตั้งแต่ 1 พ.ย.พร้อมเหลือไว้น้ำในทุ่งให้เกษตรกรใช้เตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวในเดือน ธ.ค.นี้  ด้านแม่น้ำยมลดลงต่อเนื่อง

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้วางแผนการระบายน้ำออกจากพื้นที่ทุ่งรับน้ำ โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชลประทานติดตามและตรวจวัดระดับน้ำในพื้นที่และระบายน้ำให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบตั้งแต่พื้นที่ตอนบนและตอนล่าง สำหรับพื้นที่ทุ่งบางระกำที่ได้มีการผันน้ำเข้าทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถช่วยหน่วงน้ำบรรเทาน้ำท่วมได้ตามแผนงานโครงการบางระกำโมเดล 60 โดยที่เกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบเลย

[caption id="attachment_226819" align="aligncenter" width="503"] DCIM102MEDIADJI_0906.JPG DCIM102MEDIADJI_0906.JPG[/caption]

โดยปัจจุบันพื้นที่รับน้ำของทุ่งบางระกำมีปริมาณน้ำลดลง เหลือประมาณ 230,000 ไร่ (เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน แม่น้ำยมฝั่งซ้าย) ปริมาณน้ำที่อยู่ในคลองและในทุ่งนาก็เริ่มลดลงและยังคงค้างทุ่ง ประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมชลประทานได้เริ่มทยอยนำน้ำออกจากทุ่งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อวานนี้ (1 พ.ย.60) วันละประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้เวลา30 - 40 วัน และจะคงปริมาณน้ำไว้ในทุ่งประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เกษตรกรเตรียมแปลงสำหรับเพาะปลูกต่อไป

“สำหรับพื้นที่ชุมชนที่ได้รับ ผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่ง กรมชลประทาน ฝ่ายปกครองและฝ่ายทหารได้เข้าไปช่วยเหลือ โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และใช้รถขุดตักเอาวัชพืชออก เสริมคันดิน และเสริมกระสอบทราย ป้องกันน้ำเข้าบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ พร้อมทั้ง ได้ประชุมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และสถานการณ์อุทกภัย ทั้งนี้ ปริมาณน้ำแต่ละสถานีมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติประมาณต้นเดือนธันวาคมและจะเริ่มให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวฤดูนาปรัง ได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ตามแผนงานโครงการบางระกำโมเดล 60 ที่ได้วางไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ”อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ด้านนายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน สำนักงานชลประทานที่ 3 กล่าวด้วยว่า ล่าสุดสถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมสายหลัก และ แม่น้ำยมสายเก่า จังหวัดสุโขทัย ปริมาณน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ ลดลงต่อเนื่อง โดยที่สถานีวัดน้ำ Y.14 อ.ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ปริมาณน้ำไหลผ่าน 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สถานีวัดน้ำ Y.4 อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ปริมาณน้ำไหลผ่าน 116 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 87.35 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

yom1

แนวโน้มลดลง ระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำหกบาท 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แบ่งเป็นประตูระบายน้ำยมเก่า 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และประตูระบายน้ำยมน่าน 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนล่าง ลงมาถึง ประตูระบายน้ำวังขี้เหล็ก ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม และ ประตูระบายน้ำบางแก้ว อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

สำหรับการระบายน้ำในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำยมสายหลัก ผ่านทางคลองเมม-คลองบางแก้ว ตั้งแต่ท้ายประตูระบายน้ำวังขี้เหล็กลงมาถึงประตูระบายน้ำบางแก้ว มีแนวโน้มระบายได้ต่อเนื่อง แต่ยังคงมีปริมาณน้ำที่ค้างทุ่งและบ่าทุ่งทางพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำยมสายหลัก จากทางอำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมือง อำเภอคีรีมาศ อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย และ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ไหลมาลงแม่น้ำยมที่อำเภอกงไกรลาศ และ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ทำให้ระดับแม่น้ำยมที่ สถานีวัดน้ำ Y.16 อำเภอบางระกำ วันนี้ (2 พ.ย.60) อยู่ที่ระดับ 42.29 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 328 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำ สูง 10.56 เมตร สูงกว่าระดับวิกฤต 3.28 เมตร ลดลงจากเมื่อวาน 10 เซนติเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำบางแก้ว เริ่มลดลงต่อเนื่องด้วย

ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ได้แก่ ตำบลไกรใน ตำบลดงเดือย ตำบลกกแรต ตำบลบ้านใหม่สุขเกษม อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย และ ตำบลหนองแขม ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง และ ตำบลชุมแสงสงคราม ตำบลท่านางงาม ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องและเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับพื้นที่ตอนบนในเขต อำเภอกงไกรลาศ แต่ยังคงมีพื้นที่ที่อยู่ติดกับแม่น้ำยมสายหลัก ยังคงมีระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่ง

yom3

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 3 ได้บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบทุกพื้นที่ในภาพรวม โดยยังคงลดการระบายน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำเก็บกัก 8,396 ล้านลูกบาศก์เมตร (88.29 %) ระบาย 2 ล้านลูกบาศก์เมตร และ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปริมาณน้ำ 963.48 ล้านลูกบาศก์เมตร (103.61 %) ระบาย 190 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ ยกระดับน้ำเหนือเขื่อนนเรศวร ที่ระดับ 47.80 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพิ่มการระบายน้ำ ที่ คลองผันน้ำ DR-2.8 ระบาย 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ DR-15.8 ระบาย 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน เพื่อช่วยลดระดับแม่น้ำยม และลดผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว