เร่งคลอด! “ผังอีอีซี” ปัดรุกพื้นที่เกษตร

02 พ.ย. 2560 | 06:22 น.
กรมโยธาฯ - สกรศ. เด้งรับ ม.44 เร่งคลอดแผนผัง “อีอีซี” กระชากเชื่อมั่นลงทุน-พัฒนาทิศทางเดียวกัน เสร็จไม่เกิน พ.ค. 61 กำหนดโซนอุตสาหกรรมเมืองใหม่ ที่อยู่อาศัย ให้เป็นสัดส่วน ลั่น! ไม่แทรกแซงพื้นที่เกษตร

จากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 47/2560 ใช้มาตรา 44 อาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ระหว่างรอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บังคับใช้ โดยให้จัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อีอีซีให้เสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) จ้าง บริษัท ออโรส จำกัด เร่งศึกษาข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในอีอีซี ตามผังเมืองเดิมของ 3 จังหวัด ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หรือประมาณเดือน เม.ย. - พ.ค. 2561 จากเดิมที่กำหนดให้แล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2561


1MP40-3083-A

สำหรับขอบเขตการศึกษานั้น เป็นการเน้นกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอีอีซี เพื่อให้ทุกพื้นที่ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะมีการจัดวางพื้นที่ของแผนผัง ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่เมืองใหม่และเมืองเก่า ที่อยู่อาศัย พื้นที่พาณิชย์ ต้องสมดุลกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี เมื่อผังหลักแล้วเสร็จ จะยกเลิกผังเก่าที่มีอยู่ทันที เพื่อไม่ให้ขัดแย้งกัน

แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า คสช. ต้องใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งรัดการทำงานในการจัดทำผังเมืองใหม่ จากปกติมี 18 ขั้นตอน ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีครึ่ง ให้กรมฯ สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น ซึ่งการกำหนดโซนพื้นที่จะเน้นพื้นที่ที่เกิดโซนอุตสาหกรรมในปัจจุบันแล้ว หรือ พื้นที่สีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม) แต่หากต้องการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่ม จะต้องหาพื้นที่ใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับ สกรศ. ที่จะกำหนดโซนออกมา ส่วนฉะเชิงเทราเน้นเป็นเมืองอยู่อาศัย คาดว่าจะไม่กำหนดโซนอุตสาหกรรมเพิ่ม

เงื่อนไขข้อกำหนดของแผนผังอีอีซี จะเน้นความคล่องตัวต่อการลงทุน ไม่เข้มงวด หรือ จำกัดเรื่องขนาด-ความสูงของอาคารมากเกินไป กลับกันจะเปิดกว้างต่อการพัฒนา โดยไม่กระทบชุมชน เนื่องจากโซนอุตสาหกรรมจะไม่ถูกกำหนดให้อยู่ในย่านชุมชน เขตตัวอำเภอเมืองและเขตเมืองใหม่ นอกจากนี้ จะต้องมีแนวกันชน ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว คั่นระหว่างชุมชนกับเขตอุตสาหกรรมที่ชัดเจน ระหว่างอุตสาหกรรมที่มีมลพิษมาก อย่าง ปิโตรเคมี จะมีระยะห่างจากชุมชนค่อนข้างมากกว่านิคมที่ปราศจากมลพิษ เช่น กว่า 1 กิโลเมตรขึ้นไป ขณะเดียวกัน จะคำนึงถึงพื้นที่เกษตรกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งจะกำหนดโซนชัดเจน รวมทั้งการกำหนดโซนพัฒนาเชิงพาณิชย์ เมืองใหม่ ที่อยู่อาศัยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง

ส่วนเสียงคัดค้านของเอ็นจีโอ ว่า ม.44 จะรอนสิทธิ์ผังเมืองให้นิคมอุตสาหกรรมรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน เป็นการอุ้มอุตสาหกรรมนั้น ไม่เป็นความจริง แต่จะทำให้โซนการพัฒนาชัดเจนมากขึ้น ไม่แทรกแซงพื้นที่เกษตร โดยใช้กลไกของผังเมืองผลักดันแผนผังอีอีซีให้บังคับใช้ตามนโยบายรัฐบาลก่อน

 

[caption id="attachment_183607" align="aligncenter" width="503"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การที่ คสช. ได้ออกคำสั่ง ม.44 เนื่องจากเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการวางแผนผังใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และศักยภาพของที่ดินในอีอีซี และลดอุปสรรคการทำงานในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่จะมีผลใช้บังคับราวสิ้นปีนี้ การวางแผนผังในอีอีซี จะใช้ข้อมูลของผังเมืองรวมจังหวัดที่มีอยู่ นำมาปรับปรุงให้เป็นผังพื้นที่เดียวกัน ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม

สาระหลักของคำสั่ง ม.44 จะครอบคลุมนโยบายและแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ซึ่งจะเร่งนำเสนอคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน โดยเร็ว นอกจากนี้ ได้เร่งจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สกรศ. จะทำงานกับกรมโยธาฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และเมื่อแผนผังทั้ง 2 ส่วน เสร็จแล้ว กรมโยธาฯ นำแผนผังดังกล่าวไปจัดทำผังเมืองใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ระหว่างการจัดทำผังเมืองใหม่จะใช้แผนผังทั้ง 2 ที่ได้รับอนุมัติไปพลางก่อน


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2-4 พ.ย. 2560 หน้า 2


| ข่าวที่เกี่ยวข้อง |
1- จัดผังใหม่ ‘อีอีซี’ 3 จังหวัดรวมเป็นเนื้อเดียว-เอื้อลงทุน
2- ผังเมืองยุคไทยแลนด์ 4.0 รวดเร็ว ทันเหตุการณ์



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว