BIZชูโมเดลร.พ.มะเร็ง สร้างรายได้ยั่งยืน-ต่อยอดธุรกิจทางการแพทย์

23 ต.ค. 2560 | 05:31 น.
บิสซิเนส อะไลเม้นท์ จับมือกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง ตั้งบริษัทร่วมทุนผุดโรงพยาบาลเฉพาะทางรักษามะเร็ง รองรับการเติบโต EEC จับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศและกรุงเทพฯ

นายสมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บิสซิเนส อะไลเม้นท์ฯ (BIZ) เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมกับกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษามะเร็ง ตั้งบริษัทร่วมทุน โดย BIZ ถือหุ้น 65% และกลุ่มแพทย์ 35% ของทุนจดทะเบียน ชำระเต็ม 200 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเฉพาะทางรักษามะเร็ง บนเนื้อที่เกือบ 6 ไร่ ตั้งอยู่ที่ถนนศรีราชา-หนองค้อ ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มูลค่าการลงทุน 500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งใช้เงินกู้สถาบันการเงิน 300 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 1.5 ต่อ 1 เท่า

[caption id="attachment_222204" align="aligncenter" width="336"] สมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บิสซิเนส อะไลเม้นท์ฯ (BIZ) สมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บิสซิเนส อะไลเม้นท์ฯ (BIZ)[/caption]

ประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า การตั้งโรงพยาบาลรักษามะเร็ง ขนาด 60 เตียง ต้องขอมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติโครงการนี้ เมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว คาดว่าใช้เวลาดำเนินการ 12-16 เดือน ตั้งเป้ามีรายได้เชิงพาณิชย์ อย่างเร็วภายในไตรมาส 4/2562 หรือตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นไป คาดหวังรายได้ปีแรก 100 ล้านบาท จากการใช้เครื่องฉายแสง 1 เครื่อง และการคีโม ที่เป็นการรักษาที่ไปด้วยกัน เป็นมาตรฐานการรักษาตามโรงพยาบาลการแพทย์ รองรับผู้ป่วยที่รักษาโรคโดยส่วนใหญ่ได้ และสามารถเพิ่มเครื่อง 2 เฉพาะทางได้ทันที ขึ้นกับผู้ป่วยเป็นหลัก เปิดให้บริการโครงการแรก จำนวน 10-15 เตียง ส่วนการผ่าตัดไม่ทำ เนื่องจากโรงพยาบาลอื่นสามารถผ่าตัดได้

นายสมพงษ์ กล่าวถึง การไปตั้งโรงพยาบาลเฉพาะทางรักษามะเร็งที่อ.ศรีราชา นั้น เนื่องจากมองเป็นประโยชน์ของการเติบโตของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC รองรับลูกค้าต่างประเทศ อีกทั้งการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง เป็นการรักษาต่อเนื่อง การเปิดโรงพยาบาลที่ศรีราชา ทำให้ผู้ป่วยได้พักฟื้นและรักษาด้วย

“คอนเซ็ปต์ของบริษัทและโรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็งนี้ ไม่ได้คาดหวังผู้ป่วย EEC แต่เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีการเจริญเติบโตในอนาคต และไม่มีศูนย์รักษามะเร็งของเอกชนในแถบนี้ มีแค่ร.พ.รักษามะเร็งของรัฐแห่งเดียวที่ชลบุรี โลเกชันที่เปิดเหมาะสม หลังผู้ถือหุ้นอนุมัติแล้วต้องให้จบภายใน 12-16 เดือนจากนี้ ทั้งนี้ขึ้นกับการก่อสร้างและดำเนินการ ทำได้เร็วก็ดี” นายสมพงษ์กล่าว

ประธานกรรมการบริหารกล่าว การทำธุรกิจโรงพยาบาลเฉพาะทางรักษามะเร็ง เป็นความมุ่งมั่นและแผนของบริษัทตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ mai เนื่องจากเห็นว่า การขายแค่เครื่องฉายแสง และเครื่องมือ ไม่ยั่งยืน การตั้งบริษัทร่วมทุน เป็นกลยุทธ์ของบริษัทที่เกิดขึ้นเร็วกว่าแผน ไม่ต้องการทอดเวลานาน ทำให้เสียโอกาส ขณะนี้เหมาะสม รัฐบาลสนับสนุน และเจอพื้นที่ที่น่าสนใจ การตั้งโรงพยาบาลนี้ เชื่อว่าผู้ป่วยมีกำลังและต้องการคุณภาพการรักษา สามารถจ่ายได้ เป็นการช่วยกลุ่มผู้ป่วยนี้จากส่วนกลางมายังศรีราชา อีกทั้งเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาของโรงพยาบาลรัฐ เหลือช่องว่างให้กลุ่มคนได้เข้าไปร.พ.รัฐมากขึ้น โครงการนี้ถือเป็นการร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนอีกด้วย

“ผู้ถือหุ้น BIZ ได้ประโยชน์จากรายได้ที่ยั่งยืนเพิ่มเติมเข้ามา เป็นการต่อยอดขยายธุรกิจ ถ้าโครงการนี้สำเร็จ จะเป็นโมเดลขยายไปยังจังหวัดต่างๆ หรือร่วมมือกับบริษัทเอกชนไปที่อื่นๆ อีก รวมทั้งอนาคต ร.พ.ต้นแบบที่ศรีราชา จะเพิ่มทางเลือกการรักษาโรคมะเร็งด้วย แต่เบื้องต้นปัจจุบันจะใช้มาตรฐานการฉายแสงและคีโม 2 ทางนี้เป็นหลักก่อน” นายสมพงษ์ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-34