ครูติง! “เน็ตโรงเรียน” ไม่แรงพอ - ‘ดีป้า’ สำรวจพบส่วนใหญ่ขาดแคลนบุคลากรไอที

24 ต.ค. 2560 | 05:41 น.
20-3307
“ดีป้า” เผย ผลสำรวจเกือบทุกโรงเรียนมีอินเตอร์เน็ตใช้งาน แต่ 65% ระบุชัด! ความเร็วยังไม่เพียงพอ พบ ครู-นักเรียนมีสมาร์ทโฟนใช้แพร่หลาย แต่โรงเรียนยังขาดแคลนบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์อย่างหนัก ครูสามารถสร้างสื่อการสอนใช้งานเองได้ แต่ยังขาดช่องทางแบ่งปันอย่างทั่วถึง

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล หรือ DEPS (ดีป้า) เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจพบว่า โรงเรียน 99% มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงใช้งาน และครูจำนวน 35% มีความพึงพอใจต่อความเร็วของอินเตอร์เน็ตของโรงเรียน แต่ 65% ยังไม่พอใจ เนื่องจากความเร็วในการใช้งานอินเตอร์เน็ตยังไม่เพียงพอ อีกทั้งยังขาดแคลนนักคอมพิวเตอร์ที่จะให้ความช่วยเหลือบุคลากรในโรงเรียนอย่างรุนแรง ซึ่งโรงเรียนถึง 55% ระบุว่า ไม่มีนักคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน และโรงเรียนที่เหลืออีก 45% ระบุว่า ทั้งโรงเรียนมีนักคอมพิวเตอร์เพียง 1-2 คนเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจการแบ่งปันทรัพยากรดิจิตอลที่ครูสร้างขึ้นเอง โดยพบว่า 57% มีการแบ่งปันทรัพยากรดิจิตอลที่สร้างขึ้นเองเฉพาะภายในโรงเรียนเท่านั้น ซึ่ง 5% แบ่งปันบนยูทูบ และ 5% ไม่ได้แบ่งปัน รวมถึงมีการแบ่งปันบนเว็บไซต์ของหน่วยงานเอกชน 1% บนเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ 1% และ 31% เป็นโรงเรียนที่ไม่เคยสร้างทรัพยากรดิจิตอลขึ้นเอง อีกทั้งครูทุกคนยังสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ไอทีได้หลายชนิด ทั้งสมาร์ทโฟน พีซี และโน้ตบุ๊ก


macbook-apple-imac-computer-39284

ถึงแม้ว่า ครูวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะมีการประเมินความสามารถด้านดิจิตอลของตนเองอยู่ในระดับค่อนข้างดี แต่ยังขาดการอบรมทักษะทางด้านนี้ ควรส่งเสริมให้มีการอบรมออนไลน์ หรือ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการที่โรงเรียน โดยวิทยากรผ่านระบบออนไลน์ อีกทั้งยังพบว่า ครู 50% ใช้สื่อดิจิตอลในการเรียนการสอน โดยครู 55% สามารถสร้างสื่อดิจิตอลใช้เองและแบ่งปันในโรงเรียน แต่ยังขาดแพลตฟอร์มในการแบ่งปัน


20-3307

ทั้งนี้ จากการสำรวจสรุปได้ว่า ครูมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้งานเพียงพอ โดยส่วนมากมีการใช้ยูทูบ ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ รวมถึงสื่อจากเว็บไซต์ของ สพฐ. และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) งานวิจัยยังพบว่า ครูมีการสร้างทรัพยากรดิจิตอลด้วยตนเอง แต่ขาดช่องทางการแบ่งปันเพื่อการเรียนการสอน ควรมีการพัฒนาระบบคลังทรัพยากรดิจิตอลสำหรับการแบ่งปัน และมีการตรวจสอบคุณภาพทรัพยากรดิจิตอลอย่างเป็นระบบ ขณะที่ การติดตามการอบรมครูยังคงมีการใช้เอกสารเป็นหลัก ซึ่งควรมีการเปลี่ยนมาเป็นดิจิตอลที่สามารถนำไปให้วิเคราะห์เพื่อพัฒนาต่อยอดได้ รวมไปถึงเรื่องความเสถียรของสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ควรปรับปรุงความเร็วและคุณภาพที่เพียงพอต่อการใช้งาน


MP20-3307-B

นอกจากนี้ “ดีป้า” ยังได้สำรวจข้อมูลการใช้ซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรมสุขภาพ โดยผลการสำรวจพบว่า การพัฒนาและการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้ในภาคการบริการด้านสุขภาพจะนำไปสู่การให้บริการแบบ Homecare ที่จะช่วยให้คนไข้ได้รับบริการสาธารณสุขจากที่บ้านในอนาคต รวมทั้งสามารถดูแลตัวเองได้โดยใช้เครื่องมือ Wearable Device ที่เชื่อมต่อเข้ากับเซิร์ฟเวอร์ หรือ คลาวด์ของโรงพยาบาล เพื่อได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาลหากไม่จำเป็น หรือ มีระบบแจ้งเตือน (Alert) เตือนไปยังญาติหรือบุคลลากรทางการแพทย์ที่ดูแลอยู่ได้ หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ทำให้สามารถดูแลรักษาได้ทันท่วงที

ดร.กษิติธร ยังกล่าวต่ออีกว่า การก่อตั้งดีป้าขึ้นมานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดิจิตอล ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยผลการสำรวจการใช้งานเทคโนโลยีดิจิตอลในอุตสาหกรรมการศึกษา ประจำปี 2559 เป็นการสำรวจจากครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสังกัด กทม. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 923 โรงเรียน ส่วนในด้านของภาคสุขภาพนั้น ได้มีการศึกษาข้อมูลของโรงพยาบาลต่าง ๆ ศึกษาซอฟต์แวร์ที่มีการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวางกรอบนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมการใช้และพัฒนาซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรมบริการสุขภาพและด้านการศึกษา

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22-25 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว