ร.9แสงประทีปนำทางสู่ธุรกิจ NINEBAGS โตอย่างพอเพียง

22 ต.ค. 2560 | 02:30 น.
จากอดีตวิศวกรทางด้านคอมพิวเตอร์ ทำงานในองค์กรที่มั่นคง มีรายได้หลายหมื่นบาท แต่กลับเลือกที่จะลาออกเพื่อวิ่งตามความฝันในการมีกิจการ หรือธุรกิจเป็นของตนเองชนิดที่เรียกว่าเป็นการทำแบบบ้าดีเดือด หรือเรียกว่าทุบหม้อข้าวของตัวเอง เพราะเป็นการลาออกทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร รู้แค่เพียงว่าชื่นชอบทำงานทางด้านบริการ ซึ่งข้อดีก็คือไม่ต้องมีต้นทุน แต่ใช้ทักษะทางด้านฝีมือ

ขณะที่ วินิจ ลิ่มเจริญ ยังไม่รู้ว่าจะยึดอาชีพอะไรในการทำธุรกิจ แสงประทีปนำทางชีวิตก็เกิดขึ้นจากการได้เห็นภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่กำลังซ่อมแซมฉลองพระบาทส่วนพระองค์ ซึ่งหากเป็นผู้อื่นอาจจะเลือกซื้อใหม่แทนการซ่อมไม่ทำเหมือนพระองค์ ไอเดียความคิดจึงตกผลึกได้อย่างชัดเจนว่างานซ่อมแซมน่าจะเหมาะกับตนเองมากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ชอบ ที่สำคัญการเป็นช่างซ่อมน่าจะไม่ใช่เป็นเพียงตอบ

TP13-3307-1A ++ทรงเป็นแรงบันดาลใจสู่อาชีพ
วินิจ ที่ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนนแบ็ค จำกัด เล่าผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้จะรู้ว่าต้องการเป็นช่างซ่อม แต่ปัญหาที่ตามก็คือไม่รู้ว่าจะซ่อมอะไรที่จะนำมาเป็นอาชีพได้ จึงใช้วิธีค้นหาในอินเตอร์เน็ตโดยพิมพ์ประโยคสำคัญไปเรื่อยๆ จนมาสะดุดที่คำว่ากระเป๋า เพราะเมื่อสืบค้นพบเรื่องราวที่เกี่ยวข้องปรากฏขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีคำว่า “ซ่อม” อยู่ด้านหน้า ตนจึงเลือกที่จะลองใส่คำดังกล่าวลงไปด้านหน้ากระเป๋า ทำให้ทราบว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วประโยคนี้มีผู้ใช้งานน้อยมาก

ทั้งนี้ จึงปักหมุดที่จะทำอาชีพซ่อมกระเป๋า โดยมองว่าน่าจะมีพื้นที่ทำการตลาดให้สามารถสอดแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งได้ ที่สำคัญยังไม่มีเบอร์ 1ของ ตลาด และมองว่าน่าจะมีความต้องการจากผู้บริโภค เพราะเท่าที่เห็นจะมีเพียงแค่รับซ่อมรองเท้า เสื้อผ้า ตนจึงยึดอาชีพซ่อมกระเป๋าตั้งแต่บัดนั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีโจทย์ที่ต้องแก้ปัญหารออยู่ เพราะว่าตนยังไม่มีทักษะทางด้านซ่อมกระเป๋าเลย แม้กระทั่งการใช้จักรเย็บผ้า ดังนั้น จึงใช้วิธีเขียนลงกระดาษว่าการเป็นช่างซ่อมกระเป๋าจะต้องทำอะไรบ้างหลังจากนั้นจึงไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจนชำนาญก่อนที่จะเริ่มรับซ่อมกระเป๋า และเปิดร้าน ไนนแบ็ค (NINEBAGS) อย่างเป็นรูปธรรม

TP13-3307-2A “นอกจากพระองค์จะเป็นแรงบันดาลใจให้ตนในการเป็นช่างซ่อมกระเป๋าแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นต้นแบบของความวิริยะอุตสาหะในทุกเรื่อง พระองค์จะศึกษาให้รู้จริง ทำให้ตนตั้งใจที่จะเรียนรู้ และพยายามจนสามารถมีความเชี่ยวชาญและเปิดร้านซ่อมกระเป๋าได้ในที่สุด”

++ความพอเพียงกับธุรกิจ
วินิจ บอกต่ออีกว่า ตนยังได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการทำธุรกิจ และการดำเนินชีวิต โดยในส่วนของธุรกิจนั้นในหนึ่งปีที่ร้านจะซ่อมกระเป๋าได้อยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นใบ แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีความสามารถที่จะรับเพิ่มเติมได้อีก หากเจ้าของร้านอย่างตนสนใจแต่เรื่องของรายได้ โดยไม่นึกถึงความสุขของลูกน้อง ตนจึงเลือกที่จะรับงาน พร้อมทั้งขยายงานผ่านจุดรับกระเป๋า (Drop Point) ด้วยความพอดีแบบสมเหตุสมผล นอกจากนี้ การตั้งราคาค่าบริการก็จะเป็นการตั้งแบบพอเพียงตามต้นทุนที่ใช้ในการซ่อมจริง เพื่อไม่ให้เป็นการเบียดเบียนลูกค้าจนเกินไป

ขณะที่การดำเนินชีวิตทุกวันนี้ตนก็อยู่แบบไม่มีหนี้สิน แม้รายได้ที่มาจากการซ่อมกระเป๋า ถึงไม่ได้มหาศาลจนถึงขนาดซื้อสินค้าราคาแพงมาใช้ได้แบบไม่ต้องคิดอะไร แต่ตนก็มีความสุขกับการได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ไม่ต้องใช้ชีวิตเร่งรีบเหมือนวิถีคนเมืองส่วนใหญ่ ตนมีเวลาไปจ่ายตลาด ไปออกกำลังกาย ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้อาจจะไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้ แต่ก็เป็นความสุขในแบบที่เราพอใจ

“ทุกวันนี้หากมีใครเสนอเงินให้ 1-2 แสนบาทเพื่อให้กลับไปทำงาน ตนก็ไม่กลับไป เพราะคิดว่าพอเพียงแล้วกับที่เป็นอยู่ตอนนี้ โดยคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเกษตรกร แต่แก่นที่แท้จริงก็คืออยู่ที่ใดก็ได้ให้มีความสุข ขึ้นอยู่กับวิธีปฏิบัติ อีกทั้งตนยังเผื่อแผ่ความพอเพียงไปถึงผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การดูลูกน้อง แน่นอนว่าทุกคนย่อมต้องการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยงานของที่ร้านต้องอาศัยทักษะฝีมือไม่ใช่ใครก็ได้ที่มาทำ ดังนั้น จะต้องทำให้รู้สึกพอกับชีวิตที่เป็นอยู่ ซึ่งหมายถึงคนในครอบครัวของลูกน้องด้วย เพราะเราเปรียบเสมือนเป็นอู่ข้าวอู่นํ้าให้แก่เขา”

TP13-3307-3A ++เล็งขยายบริการทั่วประเทศ
ส่วนภาพรวมของธุรกิจในอนาคตนั้น วินิจ บอกว่าปัจจุบันตนเชื่อยังมีผู้บริโภคอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ทราบว่ามีร้านแบบ ไนนแบ็ค เปิดให้บริการ หรือยังไม่ทราบว่ากระเป๋าเมื่อเสียแล้วสามารถซ่อมได้ อาจจะเคยเห็นเพียงแค่ร้านซ่อมรองเท้า หรือร้านเย็บเสื้อผ้า แต่ไม่เคยเห็นร้านซ่อมกระเป๋าแบบจริงจัง แผนการดำเนินงานของบริษัทก็คือจะต้องสื่อให้ผู้บริโภครู้ให้ได้ว่ามีร้านไนนแบ็ค และให้นึกถึงไนนแบ็ค เป็นชื่อแรก นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายจุดรับกระเป๋าให้กระจายไปยังทั่วประเทศ โดยจะเริ่มต้นที่หัวเมืองขนาดใหญ่ เพื่อทำให้สามารถขยายการให้บริการได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

สำหรับแผนภายในปีนี้คาดว่าจะขยายจุดรับกระเป๋าเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 3-4 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้วในกรุงเทพฯประมาณ 7 แห่ง ได้แก่ ร้าน เมดฟาร์มาซี ซอยเพชรเกษม 71 ,ร้านไออีมีเดีย ที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์, ร้านคลีนเมท ที่ตึกจามจุรี สแควร์ และร้านซอนต้า สยามแสควร์ เป็นต้น ขณะที่ในต่างจังหวัดจะมีที่ร้านแบ็คดีว่า (Bag Deva) อำเภอหาดใหญ่ และร้านคุณนายแบ็คสปา จังหวัดชลบุรี

“จริงๆ ที่ร้านสามารถรับกระเป๋าได้มากกว่าปีละ 1 หมื่นใบ แต่เราไม่เน้นเรื่องปริมาณ จะเน้นว่าทุกคนทำงานแล้วสนุก ตนเองสนุก ลูกน้องสนุก หากเป็นเถ้าแก่หน้าเลือด ลูกน้องอาจไม่สนุกด้วย ทุกคนต้องไปด้วยกัน หรืออย่างเช่นกระเป๋าบางใบเห็นแล้วซ่อมไม่คุ้ม เราก็จะบอกลูกค้าตรงๆ แทนที่เราจะได้งานก็อาจจะไม่ได้ นี่เป็นหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ตนนำมาใช้ในการประกอบอาชีพ”

++ความสำเร็จต้องมีขั้นตอน
วินิจ กล่าวปิดท้ายอย่างน่าสนใจว่า ทุกคนย่อมต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต โดยสิ่งที่น่ากลัวที่มักจะได้ยินบ่อยๆก็คือจะทำอย่างไรให้เป็นไปได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งก็ต้องยอมรับไม่ใช่ความคิดที่ไม่ถูกต้อง แต่ตนกลับแอบกังวลว่าหากทำแบบนั้นแล้วจะเป็นจริงได้หรือไม่ เพราะเชื่อว่าความสำเร็จต้องมีขั้นตอน ไม่ต้องถึงขนาดคำสุภาษิตที่ว่า “ช้าๆได้พร้าเล่มงาม” แต่จะต้องมาจากขั้นตอน หรือกระบวนการที่ถูกต้องไม่ใช่จะคิดหาแต่ทางลัด ซึ่งมองว่าอาจ จะไม่ใช่ความสำเร็จที่ยั่งยืนในระยะยาว

“คำว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านสอนให้เราคิดแบบนี้ โดยความสำเร็จต้องมีขั้นตอน หรือต้องมีที่มาที่ไป และที่สำคัญต้องอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วย ไม่ใช่สำเร็จชั่วข้ามคืนก็จริงแต่อยู่ได้ไม่นาน ซึ่งอาจจะไม่ได้เรียกว่าความสำเร็จ โดยตนอยู่ในธุรกิจนี้มา 10 ปีด้วยวิธีคิดแบบนี้”

นิธิโรจน์ เกิดบุญภานุวัฒน์ : สัมภาษณ์
สิทธิศักดิ์ วงศ์ปรากฏ : ถ่ายภาพ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว