ปฐมบทแห่งแผน “ทีไออีบี” (ตอน 5) บริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในไทย

23 ต.ค. 2560 | 23:05 น.
TP07-3307-1A


บทความ โดย ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
| จากเนื้อหาในตอนก่อน (ปฐมบทแห่งแผนทีไออีบี (4) ภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าหรือไม่?) ผมได้เล่าถึงความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ และได้ฝากคำถามและคำตอบที่เป็นข้อมูลสำคัญ เพื่อฝากถึงอนาคตของการสร้าง “โรงไฟฟ้า” ให้แก่พี่น้องชาวภาคใต้ ที่ท้ายสุดแล้ว ยังมีความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้า และควรมีทางเลือกเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้านั้น มาในตอนนี้ ผมจะชวนท่านผู้อ่านที่อายุ 40 ปีขึ้นไป และได้เกิดทันยุคของ “ป๋าเปรม” (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) หรือทันในยุคปี 2524 คงน่าจะยังทัน จำเหตุการณ์ตอนที่พบก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทยครั้งแรกได้ โดยการพบก๊าซครั้งนี้ ทำให้เกิดวลีที่โด่งดังในยุคนั้น ก็คือคำว่า “โชติช่วงชัชวาล”

การค้นพบก๊าซธรรมชาติในครั้งนั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทย โดยก๊าซธรรมชาติได้เป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศไทยในการผลิตไฟฟ้าจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้ทำให้ภาครัฐมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ โดยกำหนดให้เป็นฐานการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมต้นน้ำ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเข้ามาเพื่อพัฒนาบ้านเมือง เกิดโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ก๊าซธรรมชาติที่ค้นพบ

โดยผมจะขอเล่าถึงความสำคัญของก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะมีความสำคัญในการเป็นเชื้อเพลิงหลักของการผลิตไฟฟ้าแล้วนั้น ต้องยอมรับว่า ถือเป็นความโชคดีของประเทศไทยอย่างยิ่ง ที่การค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของเรา ถือเป็นก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพดี เพราะมีสารประกอบที่มีคุณค่าภายในที่สำคัญ ได้แก่ C2 หรือ อีเทน, C3+C4 หรือ โพรเทนและบิวเทน ซึ่งนำมาใช้เป็นก๊าซหุงต้ม หรือ LPG รวมทั้ง C5-C9 หรือ NGL ซึ่งคือ ก๊าซโซลีนธรรมชาติ เป็นต้น


TP07-3307-A

ทั้งนี้ ในส่วนของ C2 หรือ อีเทน และ C3+C4 หรือ โพรเทนและบิวเทน ถือเป็นสารสำคัญตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่สามารถนำมาแปรรูปกลายเป็นเม็ดพลาสติก และต่อยอดขึ้นรูปเปลี่ยนมาเป็นสินค้าต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ได้แก่ อาหาร, บรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุอาหาร แทบทั้งหมดมาจากอุตสาหกรรมพลาสติก อาทิ ถ้วย ชาม จาน หรือแม้แต่ข้าวแกงก็บรรจุในถุงพลาสติก, เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์์จากเสื้อผ้า ก็ผลิตมาจากปิโตรเคมี, ที่อยู่อาศัย ผลิตภัณฑ์ที่ได้ใช้เป็นส่วนประกอบของบ้าน ก็ได้มาจากภาคการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเช่นกัน อาทิ ท่อน้ำ, PVC ขนาดต่าง ๆ, สีทาบ้าน, เฟอร์นิเจอร์, โต๊ะ, เก้าอี้, ชั้นวางของ, ตู้เสื้อผ้า ที่ใช้กันในปัจจุบันล้วนผลิตจากพลาสติกในรูปแบบพิเศษทั้งสิ้น และยารักษาโรค หลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่เคยทราบว่า ส่วนประกอบที่สำคัญของยา อย่าง แคปซูล ก็มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งพบว่า ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศได้เริ่มลดลงต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องผลักดันนโยบายบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุ ทั้งแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงการเพิ่มโอกาสการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ จากปัจจุบันที่ประเทศไทยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว (P1) ที่ 7.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ในขณะที่มีการใช้อยู่ประมาณปีละ 1.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต



1235


มักจะมีคำถามถึงผมเสมอว่า จากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เหลืออยู่ จะสามารถเหลือใช้ได้อีกกี่ปี โดยคำตอบที่ผมอยากจะขอเรียนท่านผู้อ่าน ต้องขอแจ้งตามตรงว่า หากนับปริมาณการใช้ในระดับปัจจุบัน เชื่อมั่นว่า หากเราไม่ทำการสำรวจเพิ่มเติม จะมีก๊าซธรรมชาติให้เหลือใช้เพียง 5-7 ปี ไม่รวมการนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 1,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปัจจุบัน แบ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศเมียนมา 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในรูปแบบก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LNG ประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จึงเป็นที่มาสำคัญที่กระทรวงพลังงานอยากจะขอโอกาสให้กับประเทศในการค้นหาทรัพยากรปิโตรเลียม ที่คาดว่าจะยังมีปริมาณอยู่ภายในประเทศ โดยควรจะต้องเร่งกระบวนการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ เพื่อค้นพบทรัพยากรดังกล่าว

โดยภายใต้แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว หรือ TIEB : Thailand Integrated Energy Blueprint ส่วนหนึ่งของแผน จึงได้มีแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ซึ่งได้กำหนดไว้ให้มี 4 กลยุทธ์ที่สำคัญ ๆ ได้แก่

1.เร่งให้มีการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ รวมทั้งบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุ ได้แก่ แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช เพื่อเพิ่มโอกาสในการสำรวจจัดหาปิโตรเลียมและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

2.การบริหารจัดการการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดทำแผนลดปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ไม่ผ่านโรงแยกก๊าซ เพื่อส่งเสริมการใช้ก๊าซในอ่าวไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด (ลด Bypass Gas) รวมทั้งลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง เพื่อลดความเสี่ยงการพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก และเพิ่มทางเลือกเชื้อเพลิงอื่น เช่น ถ่านหิน เทคโนโลยีสะอาด เป็นต้น


โปรโมทวิทยุ

3.ส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจก๊าซ โดยเปิดโอกาสให้บุคคลที่ 3 เข้ามาในธุรกิจเพิ่มเติม หรือ Third Party Access ซึ่งล่าสุด จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560 ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหม่ เพื่อนำร่องทดสอบระบบต่าง ๆ ในระยะที่ 1 ถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนจะเปิดแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบในอนาคต จากเดิมที่มีเพียง บริษท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดหาเพียงรายเดียว

4.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาตเหลว (LNG) โดยส่งเสริมการจัดสร้างระบบท่อส่งก๊าซและการจัดสร้างคลังก๊าซ LNG

ทั้งหมดนี้เป็นกรอบของแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานตามแผน TIEB ในระยะยาว

สำหรับตอนต่อไป ผมจะได้กลับมาเล่าถึงความกังวลต่อปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ลดลง และเชื้อเพลิงใหม่ที่จะเข้ามาทดแทน นั่นคือ LNG ซึ่งนับจากนาทีนี้ “ก๊าซ LNG” จะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นต่อภาคการผลิตไฟฟ้าของไทย และจะกลับมาขยายความถึงแผนการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ภายใต้แผน TIEB นี้ โปรดติดตาม

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22-25 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว