น้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ‘เศรษฐศาสตร์ธรรมิกราชา’ของปวงชนชาวไทย

18 ต.ค. 2560 | 00:51 น.
TP7-3306-2A TP7-3306-1A ในช่วงเวลาแห่งความอาดูรหลังจากการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 จนถึงวันนี้ ผมเชื่อว่าพวกเราแต่ละคนต่างน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านด้วยมุมมองและวิธีการที่แตกต่างกันไป ตัวผมเองหวนระลึกถึงช่วงเวลาเมื่อประมาณ 1 ทศวรรษที่ผ่านมาที่ได้มีโอกาสร่วมกันเขียนบทความวิชาการชื่อ “เศรษฐศาสตร์ธรรมิกราชา” กับเพื่อนอาจารย์อีก 3 คนที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในวาระมหามงคล ในครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2549

เนื้อหาสำคัญประการหนึ่งของบทความในครั้งนั้นคือ จากมุมมองของเศรษฐศาสตร์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นเศรษฐศาสตร์ธรรมิกราชา หรือ “Benevolent King” โดยแท้ คำว่า benevolent เป็นคำคุณศัพท์แปลว่ากระทำสิ่งที่ดี แสดงออกซึ่งความเมตตา มีความปรารถนาที่จะทำให้ผู้อื่นเป็นสุข มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือบุคคลอื่น โดยเฉพาะผู้ยากไร้ หากในสังคมหนึ่งๆ มีผู้วางแผนตัดสินใจเชิงสังคม (social planner) ที่มีความเข้าใจ เข้าถึง และรับรู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม (social welfare) เป็นที่ตั้งมิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ในการวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ เราจะเรียกผู้วางแผนตัดสินใจเชิงสังคมว่าเป็น benevolent government

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระปฐมบรมราช โองการ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งเปรียบเสมือนการพระราชทานปฏิญาณว่า พระองค์จะทรงเถลิงถวัลย์ราชสมบัติโดยให้ความสำคัญกับการปกครอง ดูแล และรักษาบ้านเมืองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มิใช่เพื่อประโยชน์สุขของพระองค์เอง พระองค์ทรงพยายามที่จะเข้าใจปัญหาและความต้องการของประชาชน โดยทรงทุ่มเทพระวรกาย และเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อเข้าถึงประชาชนโดยการเสด็จประพาสภูมิภาคต่างๆ ของประเทศอย่างสมํ่าเสมอ รวมถึงทรงศึกษาข้อมูลต่างๆ ของพื้นที่อย่างละเอียดจากเอกสาร แผนที่ และการสอบถามเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ โดยทรงเน้นการเสด็จประพาสท้องถิ่นชนบททุรกันดาร

อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับประโยชน์สุขของประชาชนที่ด้อยโอกาสมากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ เนื่องจากประชาชนเหล่านั้น
อาจจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาประเทศน้อยกว่าประชาชนกลุ่มอื่น และมีโอกาสเข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐบาลได้น้อยกว่า หากปัญหาในการดำรง ชีวิตของประชาชนกลุ่มนี้หมดไปได้ นั่นก็เท่ากับว่าภาระของประชาชนส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ของประเทศก็จะลดลงตามไป นั่นหมายความว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระกรุณาธิคุณให้ความสำคัญกับประชาชนทุกหมู่เหล่าโดยปริยาย นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และคำนึงถึงประชาชนคนรุ่นหลังซึ่งยังไม่ได้เกิดมาอีกด้วย โดยสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระองค์สะท้อนให้เห็นจากการให้ความสำคัญกับงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ นํ้า และพลังงาน

ส่วนคำว่า “ประโยชน์สุข” นั้น พระราชกรณียกิจเสด็จประพาสภูมิภาคต่างๆ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการตลอดระยะเวลาครองราชย์ 70 ปี กับ 126 วัน ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พระองค์ท่านทรงเน้นความสำคัญของประโยชน์สุขในมิติเชิงเศรษฐกิจอันดับต้นๆ โดยเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ประกอบสัมมาอาชีพ และยึดหลักความพอเพียงในการดำรงชีวิต การริเริ่มโครงการ ที่ก่อประโยชน์ให้ประชาชนมีความสุขเชิงเศรษฐกิจ และมีปัจจัย 4 เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สอดคล้องกับความต้องการพื้นฐานของประชาชนหมู่มากของประเทศไทยในฐานะสังคมกำลังพัฒนาอันได้แก่ ผู้ที่อาศัยในชนบทและท้องถิ่นทุรกันดาร ผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ขาดแคลนปัจจัยดำรงชีพพื้นฐาน ชาวไทยภูเขา ตัวอย่างของเครื่องมือที่พระองค์ท่านทรงใช้ เช่น แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การค้นคว้าทดลองภายในพระราชวังสวนจิตรลดา โครง การหลวง เป็นต้น

TP7-3306-A นอกจากนั้นแล้ว พระองค์ท่านยังทรงสร้างประโยชน์สุขในมิติเชิงเศรษฐกิจให้กับประชาชน โดยใช้โครง การอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ช่วยแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของตลาดและความเหลื่อมลํ้าในสังคม ไม่ว่าจะเป็นโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การจัดให้มีสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น บริการสาธารณสุขสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร

มีเนื้อเพลงๆ หนึ่งกล่าวไว้ว่า พระองค์ท่านไม่เหมือนพระราชาที่ได้ยินจากนิทาน แต่สำหรับผมแล้วจากพระปฐมบรมราชโองการ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 จนถึงพระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตลอดระยะเวลาครองราชย์สะท้อนให้เห็นว่า benevolent government ที่คิดว่าจะมีอยู่แต่ในโลกของทฤษฎีกลับมีอยู่จริง ในหลวงรัชกาลที่ 9 “เศรษฐศาสตร์ธรรมิกราชา” ของปวงชนชาวไทย

สถิตย์ในดวงใจตราบนิจนิรันดร์ น้อมศิระกราน กราบแทบพระยุคลบาท ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า ศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว