นำร่องรื้อถอน4แท่นผลิต เชฟรอนมั่นใจรับมือผลกระทบ

11 ต.ค. 2560 | 00:53 น.
ตามกฎหมายปิโตรเลียม กำหนดให้ผู้รับสัมปทานจะต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายหลังหมดอายุสัญญา โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ออกประกาศกฎกระทรวง กำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ต้นปี 2559 ไปเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนข้อกฎหมายดังกล่าว ได้ระบุก่อนจะทำการรื้อถอนล่วงหน้า 3 ปี จะต้องดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อจะนำไปสู่การรื้อถอนแท่นจากจำนวนแท่นที่มีอยู่ราว 80 แท่น และโครงสร้างที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุปกรณ์เชื่อมต่อท่อขนส่งใต้ทะเลจำนวน 80 ชิ้น ซึ่งอยู่ในบริเวณอ่าวไทยทั้งหมด

**รื้อ 4 แท่นผลิตนำร่อง
ล่าสุดเมื่อช่วงปลายกันยายนที่ผ่านมาบริษัท เชฟรอนฯ ร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้จัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ในโครงการนำร่องการนำส่วนบนของแท่นหลุมผลิตเพื่อนำไปกำจัดบนฝั่ง โดยพิจารณาแท่นที่หยุดผลิตเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีไปกำจัดทิ้งบนฝั่ง เพื่อศึกษาเทคนิคการรื้อถอนที่มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศ รวมทั้งประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีการรื้อถอนของผู้ประกอบการไทย

โดยพิจารณาเลือกแท่นหลุมผลิตที่ผลิตจนหมดปริมาณสำรองและไม่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์ของการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม และไม่มีแผนการใช้งานในอนาคต ได้แก่ แท่นหลุมผลิตยะลา เอ แท่นหลุมผลิตจักรวาล แท่นหลุมผลิตฟูนาน เอ็ม และแท่นหลุมผลิตฟูนาน แอล เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำขั้นตอนในการปฏิบัติงานสำหรับการจัดการกับแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมในอนาคต โดยเมื่อการดำเนินงานแล้วเสร็จ บริษัท เชฟรอนฯ จะได้จัดทำรายงานการสิ้นสุดโครงการ และนำเสนอกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติต่อไป

tp8-3303-b **เข้มงวดควบคุมมลพิษ
นายอรรถพล อ่างคำ ผู้อำนวยการกองความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับกรณีในต่างประเทศ แต่มีข้อแตกต่างกับไทย ที่มีระยะทาง 150 กิโลเมตร ความลึกนํ้า 70 เมตร มีแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยราว 300 แท่น จึงจำเป็นต้องมีโครงการนำร่องรื้อถอนก่อน 4 แท่น เพื่อศึกษากรณีมีการตัดแท่นหลุมผลิต ทำความสะอาด ยกลงเรือ และขนส่งไปยังพื้นที่จัดการของเสียในจังหวัดชลบุรีจะจัดการอย่างไร ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดจะทำอยู่บนเหนือนํ้า ไม่ว่าจะเป็น การตัดแท่นผลิต การยก ที่จะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย ที่สำคัญการทำความสะอาด ต้องไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีสารไฮโดร คาร์บอน การล้างเป็นระบบปิด ไม่มีการระบายทิ้งลงนํ้า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

**เริ่มดำเนินการต.ค.นี้
นายสุขสรรพ์ จินะณรงค์ วิศวกรสิ่งแวดล้อมอาวุโส บริษัท เตตร้า เทค อิงค์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษา ในการจัดทำรายงานการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอนแท่นหลุมผลิตปิโตร เลียมทั้งหมดของบริษัท เชฟรอนฯ กล่าวว่า โครงการนำร่องดังกล่าว จะดำเนินการและศึกษาในการตัดส่วนบนของแท่น รวมถึงเส้นทางขนส่งทั้งในทะเลและบนบก ในการนำไปแยกชิ้นส่วนและกำจัดของเสีย ยังสถานที่แยกชิ้นส่วนที่อยู่ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและการกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ภายหลังจากการรื้อถอนของแท่นส่วนบนแล้ว จะเหลือขาแท่นวางไว้ที่เดิม โดยจะมีการติดตั้งพื้นที่ทำงานชั่วคราว อุปกรณ์แปลงพลังงานแสงอาทิตย์ อุปกรณ์ช่วยนำทาง และอุปกรณ์สะท้อน เรด้าบนขาแท่นหลุมผลิตที่ปล่อยไว้ที่เดิม เพื่อแจ้งตำแหน่งให้ผู้ใช้พื้นที่ในทะเลไม่ว่าจะเป็นเรือขนส่งสินค้า และเรือประมง คาดว่าจะสามารถเริ่มรื้อส่วนบนของแท่นหลุมผลิตแห่งแรก และขนส่งไปจัดการบนฝั่งได้ในเดือนตุลาคมนี้ และจะดำเนินการรื้อถอนไปจนถึงเดือนเมษายน 2561

**ประมงมั่นใจไม่กระทบ
ส่วนความเป็นห่วงจะมีก๊าซธรรมชาติไหลออกมาจากท่อปิโตรเลียมนั้น การที่เลือกแท่นหลุมผลิตที่หยุดใช้งานมา 1 ปีแล้ว จึงไม่มีก๊าซหลงเหลืออยู่ ขณะเดียวกันได้มีการปิดปากหลุมผลิตโดยนำปูนซีเมนต์อัดลงไป 3-4 ชั้น จึงมั่นใจจะไม่มีการรั่วไหลออกมา

นายสุวิทย์ แซ่ลิ้ม ตัวแทนจากสำนักงานประมงจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การรื้อถอนแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมส่วนบนคิดว่า บริษัท เชฟรอนฯ ได้พิจารณาความเหมาะสมให้มีผลกระทบน้อยที่สุดแล้ว จึงไม่กังวลแต่ประการใด ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงได้รับทราบมาตลอด จากการเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา แต่จะเป็นห่วงเรื่องขาแท่นด้านล่างในอนาคตจะดำเนินการรื้อถอนอย่างไร และมีวิธีไม่ให้ก๊าซไหลออกมาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8 - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1