ชี้ผลสำเร็จ‘อีอีซี’ TDRI ต้องพัฒนาทักษะแรงงาน-เทคโนโลยี

07 ต.ค. 2560 | 12:03 น.
ทีดีอาร์ไอเผยผลการศึกษาอีอีซียังมีช่องโหว่ จี้ภาครัฐเร่งพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีรองรับมองการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและสร้างเมืองใหม่ เป็นสิ่งท้าทาย และอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นได้มีไม่กี่กลุ่ม

มีผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ“จากไทยแลนด์ 4.0 สู่อีอีซีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ”ออกมา ที่ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ยังมีอุปสรรคหลายด้านที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาแก้ไข และเป็นความท้าทายในการผลักดันการลงทุนและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานว่าจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลได้เดินนโยบายการพัฒนาอีอีซีมาถูกทาง แต่หากจะให้สำเร็จในการพัฒนาควรจะวัดด้วยความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศ และทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้น พร้อมชี้ให้เห็นถึงโอกาสของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะเกิดขึ้นในอีอีซีได้

[caption id="attachment_43756" align="aligncenter" width="343"] ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์[/caption]

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า การพัฒนาอีอีซีเป็นนโยบายที่เดินมาถูกทางทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการอำนวยความสะดวกในการลงทุน และการให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดใน10อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก รถไฟรางคู่และมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร น่าจะได้รับการพัฒนาตามแผนที่วางไว้

ส่วนรถไฟความเร็วสูงและการก่อสร้างเมืองใหม่ รวมถึงการดึงมหาวิทยาลัยระดับโลกเข้ามาตั้ง เป็นสิ่งท้าทายว่ารัฐบาลจะผลักดันได้แค่ไหนเนื่องจากเป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ที่เชื่อมทั้ง 3 สนามบิน นักธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซีให้ความสนใจกับโครงการนี้มากแต่ผลการศึกษาระบุว่า เป็นโครงการที่เกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากเป็นโครงการที่เข้าตามกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน(พีพีพี) ซึ่งเอกชนต้องรับความเสี่ยงเองทั้งหมด ทำให้นักลงทุนเกิดความลังเลและหาผู้ลงทุนได้ยาก เนื่องจากใช้เงินลงทุนที่สูงและต้องใช้ระยะเวลานานในการคืนทุน

ขณะที่การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ซึ่งจะต้องทำการถมทะเล และอยู่ระหว่างเตรียมการจัดทำโครงการตามกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน(พีพีพี) เป็นสิ่งที่ท้าทายว่ารัฐบาลจะผลักดันได้หรือไม่ เนื่องจากได้รับการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่จากการถมทะเลอยู่เช่นเดียวกับการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 ที่ต้องทำการถมทะเล เช่นเดียวกัน ยังคัดค้านอยู่ แม้ว่ารายงานอีไอเอจะผ่านความเห็นชอบไปแล้วก็ตาม รวมถึงการพัฒนาท่าเรือสัตหีบ ที่อาจมีความล่าช้าเนื่องจากกองทัพเรือขาดความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการท่าเรือพาณิชย์

tp11-3302-a นอกจากนี้ในส่วนของการดึงดูดนักลงทุนใน10กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเห็นว่า อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและเกิดการลงทุนจริงได้ จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยานยนต์และชิ้นส่วนและบริการสุขภาพ ส่วนอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดได้จะอยู่ในส่วนของการซ่อมบำรุงเครื่องบิน(เอ็มอาร์โอ)โลจิสติกส์และระบบอัตโนมัติที่จะเข้ามาใช้ในโรงงานหรือคลังสินค้า

ที่สำคัญความสำเร็จของอีอีซี จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการวัดโดยความสามารถทางเทคโนโลยีและทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาจะต้องมีการออกแบบแพ็กเกจจูงใจรายสาขาแบบครบวงจร ไม่เพียงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเท่านั้น แต่จะต้องมีการสนับสนุนการวิจัย และการพัฒนาทักษะแรงงานและการแก้ไขกฎระเบียบรวมถึงการให้สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยของรัฐเข้าร่วมด้วย เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1