เศรษฐศาสตร์กับสิทธิในที่ดินทำกิน

03 ต.ค. 2560 | 23:20 น.
TP07-3302-a เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านอาจเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการที่ภาครัฐ โดยผ่าน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีนโยบายแจกที่ดินและให้เอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน แก่เกษตรกร หรือครัวเรือนที่ยากไร้ในภาคเกษตร ภายใต้สภาพสังคมที่มีการให้ความสนใจในประเด็นเรื่องความเหลื่อมลํ้า อย่างประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

นโยบายนี้ สามารถมองได้ในนัยหนึ่งว่า อาจเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมลํ้าในการเข้าถึงทรัพยากร (ในที่นี้ คือ ที่ดินทำกิน) ซึ่งมีผลกระทบ ไปถึงความเหลื่อมลํ้าทางสภาพสังคมและเศรษฐกิจ แต่หากเรามองเรื่องนี้ให้กว้างยิ่งขึ้น โดยผ่านมุมมองของเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ก็จะพบว่า นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญแก่สิทธิในที่ดินทำกิน ไม่เพียงเพราะแค่เหตุผลจากประเด็นเรื่องความเหลื่อมลํ้าเท่านั้น หากสิทธิในที่ดินทำกินยังเกี่ยวโยงไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในภาคเกษตร ซึ่งนับว่ามีความสำคัญ ต่อการพัฒนาของประเทศ อย่างประเทศไทยอีกด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิในที่ดินทำกินกับประสิทธิภาพในการผลิตนั้น มีรากฐานมาจากแนวคิดสำคัญ
หนึ่งในหลักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งนั่นก็คือ มนุษย์มีพฤติกรรมตอบสนองต่อแรงจูงใจ หากเกษตรกรมีความมั่นคงและมั่นใจในสิทธิของตนในที่ที่ตนทำกินอยู่ เขาย่อมจะมีแรงจูงใจในการลงทุนระยะยาว ในที่ดินนั้นๆ เช่น ปลูกพืชที่ไม่เฉพาะแต่พืชล้มลุกที่เก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะสั้นได้เท่านั้น บำรุงดิน และสร้างระบบชลประทานเก็บนํ้า ซึ่งการลงทุนเหล่านี้มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพิ่มคุณภาพในผลิตผล ส่งผลดีทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ในทางกลับกัน หากเกษตรกรคิดว่าจะถูกไล่ออกไปจากที่ดินทำกินเมื่อไรก็ได้ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิรับรอง เขาย่อมขาดแรงจูงใจที่จะทำนุบำรุงผืนดินนั้นๆและพัฒนาผลผลิต เพราะเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว เขาอาจจะไม่มีสิทธิในผลิตผลจากที่ดินผืนนั้นอีกต่อไป สิทธิในที่ดินทำกินจึงนับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุน และประสิทธิภาพในการผลิตได้

TP07-3302-ba แล้วเมื่อเราพูดถึงสิทธิ คำว่าสิทธินั้นนิยามว่าอย่างไร มีความครอบคลุมแค่ไหน? Elinor Ostrom เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี ค.ศ. 2009 ได้แบ่งสิทธิในทรัพยากร ธรรมชาติ ซึ่งรวมไปถึงที่ดิน เป็นแง่มุมย่อยๆ ไว้ 5 แง่มุมเพื่อความกระจ่างในการวิเคราะห์ ดังนี้ (1) สิทธิในการเข้าถึง (2) สิทธิในการเก็บเกี่ยว (3) สิทธิในการบริหารจัดการ (4) สิทธิในการกีดกันผู้อื่นมิให้เข้ามาใช้ทรัพยากรนั้น (5) สิทธิในการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของทรัพยากรนั้นๆ ให้แก่ผู้อื่น

โดยทั่วไปแล้ว นักเศรษฐศาสตร์มักจะถือกันว่า ยิ่งสิทธิองค์รวมครอบคลุมสิทธิย่อยๆ มากเพียงใด สิทธิองค์รวมนั้นก็จะมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าเอกสารสิทธิที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินฯแจกให้เกษตรกร จะครอบคลุมเพียงแค่สิทธิที่ 1-4 การที่มีสิทธิในการกีดกันผู้อื่นมิให้เข้ามาใช้ที่ดินของตน พบว่าช่วยลดความขัดแย้งในการอ้างสิทธิในที่ดินผืนเดียวกันระหว่างเกษตรกรกันเอง หรือระหว่างเกษตรกรกับภาครัฐได้ (เช่น ในกรณีที่ดินคาบเกี่ยวกับผืนป่าเสื่อมโทรม) ทำให้ผู้ถือครองมีสิทธิสมบูรณ์ในการใช้ที่ดินนั้นๆ และมีความมั่นคงในการใช้สูงสุด

จากงานวิจัย Chankrajang (2015) พบว่า การมีสิทธิในที่ดินทำกินที่มั่นคงขึ้น จากการได้รับเอกสารสิทธิจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก. 4-01) ของเกษตรกรที่อาศัยทำกินอยู่บนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมาเป็นเวลานาน ถึงแม้ว่าเอกสารนั้นครอบคลุมแค่สิทธิที่ 1-4 ข้างต้น แต่ก็ทำให้เกิดผลต่อ (1) การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพในการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งพึ่งพาปัจจัยการลงทุนมากกว่าปัจจัยธรรมชาติเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวนาปี (2) การใช้ที่ดินในการปลูกพืชหมุนเวียนมากครั้งขึ้นต่อปี (3) การเพิ่มขึ้นของการลงทุนในที่ดินของเกษตรกร เช่น การใช้ปูนขาว ซึ่งช่วยลดความเป็นกรดของดินและทำให้ปลูกข้าวนาปรังได้ดีขึ้น และ (4) การเพิ่มขึ้นของคุณภาพของผืนดิน ซึ่งวัดจากการลดลงของสัดส่วนของที่ทำกินที่เป็นดินเปรี้ยว

อันที่จริงแล้ว นโยบายการให้ที่ดินทำกินและการให้การรับรองสิทธิในที่ดินทำกินต่อเกษตรกร มีการทำ ต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งในประเทศไทย และประเทศต่างๆ เช่น จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินเดีย และเป็นนโยบายที่องค์กรระดับนานาชาติ อย่างเช่น ธนาคารโลก ได้ให้ความสนใจ ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาตั้งแต่ในช่วงปี ค.ศ. 1980 ซึ่งการสนับสนุนนโยบายเหล่านี้ ส่วนหนึ่ง
ก็มาจากรากฐานของงานวิจัยในเชิงประจักษ์ ที่วิเคราะห์ข้อมูลจากประเทศต่างๆ ทั้งจากข้อมูลในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งแม้จะมีผลในแง่ของรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาองค์ความรู้ในวงการวิชาการต่างๆ กันไป

แต่ข้อสรุปภาพรวมที่ได้ ซึ่งค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกัน ก็คือความมั่นคง ในสิทธิในที่ทำกินสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกร ให้ลงทุนในระยะยาวมากขึ้น ก่อให้เกิดผลดีต่อประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งมีนัยสำคัญต่อความกินดีอยู่ดีของประชากรและการพัฒนาประเทศ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-4 • (หากสนใจเพิ่มเติมท่านผู้อ่าน สามารถอ่านบทความภาษาไทย 11 ตอน เรื่อง “ธรณีนี่นี้ ใครครอง” ที่นำประเด็นและงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังในแบบขยาย ได้ที่ https://sites.google.com/site/than yapornchankrajang/books

• อ้างอิง: Chankrajang, T. 2015. Partial Land Rights and Agricultural Outcomes: Evidence from Thailand,Land Economics, Vol. 91 (1): pp. 126-148.เศรษฐศาสตร์กับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-3