‘อินโด-แปซิฟิก’ ยุทธศาสตร์ที่ไทยต้องบาลานซ์

07 ต.ค. 2560 | 01:18 น.
TP10-3302-1a หนึ่งในสาระสำคัญในการหารือระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย กับ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในการเยือนสหรัฐฯของผู้นำไทยในครั้งนี้ ก็คือการส่งเสริมในความร่วมมือ “อินโด-แปซิฟิก” ที่สหรัฐฯต้องการให้ไทยเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

ความร่วมมือ “อินโด-แปซิฟิก” ไม่ใช่คำใหม่ สำหรับ อินเดีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยได้ริเริ่มขึ้นมาหลายปีก่อนแล้ว แต่ได้รับการตอกยํ้ามากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมานี้เองครับ

โดยมีการหารือถึงความร่วมมือไตรภาคี สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น นอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2017 ที่ผ่านมา ตามมาด้วยการเดินทางเยือนอินเดียของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯเมื่อวันที่ 26 กันยายน

ความร่วมมืออินโด-แปซิฟิก เป็นการจับมือของมหาอำนาจเศรษฐกิจแห่งแปซิฟิก อย่างญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่กำลังผนึกเข้ากับอินเดีย มหาอำนาจเอเชียใต้ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนมาทุกยุคทุกสมัย

นั่นจึงทำให้ความร่วมมืออินโด-แปซิฟิก ถูกมองมากขึ้นว่า เป็นความร่วมมือที่กำลังถูกยกความสำคัญขึ้นมาเพื่อคานอำนาจกับการขยายอิทธิพลจีนที่กำลังผลักดันความร่วมมือ วันเบลต์วันโรด (One Belt One Road) หรือ “นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” อย่างเต็มสูบ

TP10-3302-a โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียใต้ ที่จีนได้ไปจับมือกับปากีสถาน ประเทศคู่แค้นของอินเดีย ในการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคอย่างออกหน้าออกตา ภายใต้ความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ปากีสถานหรือ CPEC (อ่านว่า ซี-เพค) ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า ปากีสถาน และจีน ไม่ถูกกัน

ความร่วมมือระหว่างจีน และปากีสถานสร้างความสั่นสะเทือนให้กับความมั่นคงของอินเดียในเอเชียใต้อย่างที่สุด จนเกือบจะระเบิดเป็นสงครามชายแดนระหว่างจีน และอินเดียใกล้กับชายแดนภูฏานเมื่อเดือนพฤษภาคม หรือ วิกฤติ DOKLAM (อ่านว่า ดอค-คลัม)

ในบทความของสำนักข่าว “ยูเรเซีย รีวิว” ชี้ว่า การปะทะระหว่างอินเดียและจีนในช่วงที่ผ่านมา เริ่มแสดงให้เห็นว่า ความร่วมมืออินโด-แปซิฟิก กำลังปะทะกับนโยบายวันเบลต์วันโรดของจีนอย่างยากที่จะเลี่ยง และจะเป็นความร่วมมือที่ถูกใช้เพื่อสกัดกั้นและถ่วงดุลอำนาจกับอิทธิพลจีน ทั้งด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจ โดยมีสหรัฐฯ และญี่ปุ่น กระโดดเข้ามาอย่างเต็มตัว

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-4 ขณะเดียวกัน ไปดูข้อความแถลงจากทำเนียบขาว ได้ระบุชัดเจนว่า “วาระที่จะหารือกันระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำไทย ก็คือ ความร่วมมืออินโด-แปซิฟิกนี้เอง”

ขณะที่นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวในระหว่างการเดินทางเยือนไทยเมื่อวันที่ 27 กันยายน ถึงกับออกปากว่า การหารือของผู้นำทั้ง 2 จะเป็น Turning Point ในความสัมพันธ์ของไทย และสหรัฐฯครั้งสำคัญทีเดียว

ดังนั้น ในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งประเทศศูนย์กลาง และเป็นความหวังของนโยบายวันเบลต์วันโรด ของจีน ไทยก็จะต้องกลับมาเล่นเกมการถ่วงดุลมหาอำนาจอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง และจะเป็นครั้งที่สำคัญมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่เดิมพันกันด้วยอนาคตของอิทธิพลสหรัฐฯในเอเชีย และอาเซียนทีเดียวครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-3