‘ท่าเรือแหลมฉบัง’ เฟส3 เสริมแกร่ง! โลจิสติกส์ไทย

01 ต.ค. 2560 | 09:37 น.
โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 นับเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและคมนาคมทางนํ้า โดยเฉพาะแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่เป็นแผนเร่งด่วนที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนให้ท่าเรือแหลมฉบัง (ทฉบ.) เป็นประตูการค้าสู่เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และ สปป.ลาว นอกจากนี้ ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการคมนาคม ขนส่ง และกระจายสินค้าตลอดจนส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียอีกด้วย

โดยโครงการดังกล่าวนี้มีพื้นที่ท่าเรือถึง 1,600 ไร่ ความยาวท่าเรือ 4,500 เมตร ความลึกแอ่งจอดเรือ 18.5 เมตรจากระดับนํ้าทะเลปานกลาง ความสามารถรองรับขนาดเรือระวางขับนํ้าไม่ตํ่ากว่า 1 แสนเดตเวตตัน มีท่าเทียบเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่า ท่าเทียบเรือชายฝั่ง 1 ท่า และท่าเทียบเรือตู้สินค้า 4 ท่า สามารถรองรับทั้งปริมาณเรือและตู้สินค้าได้สูงถึง 18 ล้าน TEU/ปี ความสามารถรองรับรถยนต์ 1 ล้านคันต่อปี คาดว่าจะใช้งบลงทุนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาททั้งการก่อสร้างปรับพื้นที่ การจัดหาเครื่องมือใช้ในโครงการและการบริหารจัดการ

TP12-3301-B ทั้งนี้การก่อสร้างโครงการทฉบ.ยังมีมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง โดยศึกษาครอบคลุมระยะต่างๆ ได้แก่ ระยะก่อนก่อสร้าง และระยะก่อสร้าง สามารถแบ่งได้ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านเศรษฐกิจ-สังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น จัดให้มีช่องทางการร้องเรียนที่หลากหลาย 2.ด้านการกัดเซาะและการทับถมของตะกอนชายฝั่ง เช่น ควบคุมการตอกเสาเข็มให้แล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด และใช้แพท้องแบนดำเนินการตอกเสาเข็มและวางคานเพื่อลดสิ่งกีดขวางกระแสนํ้า 3.ด้านมลพิษทางอากาศ เสียง และการสั่นสะเทือน เช่น ก่อสร้างรั้วปิดล้อมรอบบริเวณพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่ใกล้ชุมชนหรือพื้นที่กองวัสดุก่อสร้าง

ในส่วนระยะดำเนินการ แบ่งได้ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางนํ้า เช่น ติดตั้งป้ายเครื่องหมายสัญญาณเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้ถนน รวมถึงการขุดลอกร่องนํ้าบริเวณปากคลองบางละมุงเป็นประจำเพื่อให้เรือชาวประมงสัญจรได้สะดวก 2.ด้านการระบายนํ้าและบำบัดนํ้าเสีย เช่น ติดตั้งระบบบำบัดนํ้าเสียสำเร็จรูปประจำอาคารต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการ 3.ด้านการจัดการกากของเสีย เช่น มีมาตรการจัดเก็บขยะให้หมดต่อวันเพื่อไม่ให้มีขยะตกค้าง พร้อมติดตั้งถังรองรับขยะมูลฝอยให้เพียงพอ

นอกจากนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยยังมีมาตรการช่วยเหลือชดเชยเยียวยาแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบอย่างยั่งยืน สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ประชาชนที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ทาง www.laemchabangportphase3.com

ดังนั้นคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการได้เมื่อไร ทันรัฐบาลคสช.นี้หรือไม่ และเมื่อโครงการนี้เปิดให้บริการจะสามารถเสริมศักยภาพให้เป็นท่าเรือขนาดใหญ่สามารถรองรับเรือและสินค้าได้ตามที่ผลการศึกษาไว้และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริงได้มากน้อยเพียงใด ปลายปีนี้ลุ้นความชัดเจนกันเถอะ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9