การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส3

01 ต.ค. 2560 | 23:15 น.
TP11-3301-C การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เป็นส่วนหนึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ ของโครงการ EEC ตั้งเป้าหมายว่าหากแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทำให้ช่องทางการนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังคล่องตัวมากขึ้นจากปัจจุบันที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือแห่งนี้11ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18ล้านทีอียูต่อปี และยังส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบัง ก้าวสู่การเป็นท่าเรือที่ติดอันดับ Top 10 ของโลก จากที่อยู่อันดับ 22 ของโลกในปัจจุบัน

ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกขึ้นอย่างเป็นทางการ ภาพการพัฒนาโครงการต่างๆก็เริ่มมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาท่าเรือ 3 ท่าเรือ (แหลมฉบัง-สัตหีบ-มาบตาพุด) โดยการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 เพื่อให้เกิดการรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเช่นการส่งออกรถยนต์3ล้านคัน/ปี รองรับเรือขนส่งขนาดความจุ 1.6 แสนตัน

ขณะที่ท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 จะพัฒนาเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคหลักในการรองรับการขนส่งสินค้าเหลวก๊าซธรรมชาติและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และท่าเรือสัตหีบ จะปรับปรุงให้สามารถรองรับด้านการท่องเที่ยวเรือขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่าการขนส่งสินค้าทางนํ้ามีต้นทุนตํ่าที่สุด รองลงมาคือ ระบบรางและทางถนน ประเทศไทยยังนับว่ามีต้นทุนการขนส่งสินค้าค่อนข้างสูงซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนการขนส่งช่วยประหยัดเม็ดเงินค่าขนส่งสินค้าถึงปีละ 2แสน5หมื่นล้านบาท

โดยมีการประเมินกันว่าจะประหยัดเม็ดเงินจากการขนส่งสินค้าได้ถึงปีละ 2 แสน 5 หมื่นล้านบาทซึ่งการก่อสร้างการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ และในเดือนหน้าจะส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.พิจารณาอนุมัติโครงการหากผ่านการพิจารณาคาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ และแล้วเสร็จภายใน 5 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9