ภาษีที่ดินช้ารัฐพลาดเป้าจัดเก็บสูงลิบ

01 ต.ค. 2560 | 05:29 น.
ท้องถิ่นแฉรัฐ ตั้งเป้าจัดเก็บผิดพลาด เหตุประเมินจากฐานภาษีที่ดินที่คิดว่ามีผลบังคับใช้ แต่สุดท้ายดีเลย์ ทำให้ตัวเลขสูงเกินจริง เผยปีงบ 61 คาดการณ์รายได้ของรัฐสูงถึง 1.1 แสนล้าน ขณะที่ท้องถิ่นคาดว่าจะเก็บได้จริงแค่ 5 หมื่นล้าน

[caption id="attachment_214392" align="aligncenter" width="503"] นพดล แก้วสุพัฒน์ นพดล แก้วสุพัฒน์[/caption]

ความล่าช้าและความไม่ชัดเจนว่าร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เลื่อนพิจารณาในวาระ 2 ออกไป นายนพดล แก้วสุพัฒน์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเด็นที่ท้องถิ่นกังวลคือรายได้จัดเก็บของท้องถิ่นกับตัวเลขที่รัฐบาลประมาณเป้าจัดเก็บสูงกว่าความเป็นจริงค่อนข้างมาก เนื่องจากตัวเลขที่รัฐคาดการณ์เป็นการเก็บจากภาษีที่ดินฯ ที่มาใช้แทนที่ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ประกาศใช้

งบประมาณปี 2560 ที่จะหมดปีงบในไม่กี่วัน ท้องถิ่นคาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จากเป้าประมาณการที่รัฐบาลคาดว่าจะได้รับอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งห่างกับตัวเลขจริงร่วม 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่งบประมาณปี 2561 รัฐบาลประมาณการจัดเก็บของท้องถิ่นไว้ที่ 1.1 แสนล้านบาท แต่คาดว่าจะเก็บได้จริงใกล้เคียงกับงบประมาณปี 2560 ที่กว่า 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ห่างจากเป้าประมาณการร่วม 6 หมื่นล้านบาท

“รัฐบาลให้ท้องถิ่นกำหนดแผนงานที่ทำแต่ละปี แต่งบประมาณไม่ใส่ให้ ก็ไม่ต่างกับ “งบลอย” ในงบ ประมาณปี 2560 จึงเป็นปีแรกที่ท้องถิ่นทำเรื่องเสนอไปยังคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) (มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขอเงินชดเชยจากส่วนต่างของรายได้ที่จัดเก็บตํ่ากว่าเป้าประมาณการ ซึ่ง ก.ก.ถ. ได้อนุมัติโดยตัดจากงบประมาณภาคมาชดเชยให้ในวงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท และคาดปลายปีงบประมาณ 2561 ท้องถิ่นคงต้องเสนอของบชดเชยอีก 6 หมื่นล้านบาท”

ประกอบกับภาษีที่ดินจะจัดเก็บจากทรัพย์สินก็มีเฉพาะภาคกลางที่มีโฉนดที่ดิน แต่ต่างจังหวัดไม่ได้มีทุกแปลง หรืออัตราก็ยังไม่ชัด เช่น จะยกเว้นภาษีบ้านและสิ่งปลูกสร้างหลังแรกไม่เกิน 20 ล้านบาทหรือ 50 ล้านบาท และกว่าที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จริง นายทุนที่ถือครองที่ดินก็อาจไปตัดแบ่งขายเพื่อไม่ให้เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี แปลงสินทรัพย์จากที่เคยถือครองที่ดิน มาลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ หรือฝากต่างประเทศแทน เหล่านี้เป็นปัญหาที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงในการตั้งเป้าที่สูงโด่ง

นายนพดลกล่าวว่า ท้องถิ่นกำลังดูอยู่ว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ จะเสนอสนช.ทันสิ้นปีนี้หรือไม่ หากเลยจากนั้นคงต้องเลื่อนประกาศใช้ไปเป็นปี 2563 เพราะหลังผ่านสนช. ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา 1 ปีก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ได้ทัน สอดคล้องกับนายประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์ นายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง และในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.)

“ในฐานะกรรมการใน ก.ก.ถ. จะเสนอให้บอร์ด ก.ก.ถ. พิจารณาเงินเยียวยาให้ท้องถิ่นในกรณีที่รัฐได้ตัดงบเงินอุดหนุนลง เพราะประเมินการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นได้สูง หากประเมินตัวเลขผิดพลาด รัฐก็ควรจะจ่ายเงินเยียวยาชดเชยงบอุดหนุนที่ถูกตัดไป” นายประเสริฐกล่าว

ด้านนายกฤษฎา ศิริพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักการคลัง (สนค.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่าคาดปี 61 กทม.ยังได้งบอุดหนุนจากส่วนกลาง 2 หมื่นล้านบาท แต่ในงบประมาณปี 2562 ที่กฎหมายภาษีที่ดินฯมีผลบังคับใช้ ก็อาจจะส่งผลต่องบอุดหนุนที่กทม.ได้รับอาจปรับลดลงได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว