อ.ส.ค.สืบสานอาชีพพระราชทานฯชู"โคนม"ต่อยอดสู่อาชีพยั่งยืน

28 ก.ย. 2560 | 10:06 น.
อ.ส.ค.สืบสานพระราชปณิธานโคนมอาชีพพระราชทาน“รัชกาลที่9”ต่อยอดสู่อาชีพยั่งยืน

kono4

ปัจจุบันเกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีอายุค่อนข้างมากและก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้การประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีประสิทธิภาพลดลง ขณะที่เยาวชนรุ่นใหม่และบุตรหลานเกษตรกรได้ให้ความสนใจเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและบันเทิงเพิ่มมากขึ้น และการสานต่ออาชีพเกษตรกรจากบรรพบุรุษมีแนวโน้มลดลง ซึ่งการเลี้ยงโคนมก็เป็นหนึ่งอาชีพที่กำลังเผชิญปัญหาดังกล่าวเช่นกัน องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) ในฐานะองค์กรหลักที่มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงโคนมของไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 55 ปี ได้กำหนดแนวทางพัฒนาและสืบสานอาชีพการเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ให้คงอยู่จากรุ่นสู่รุ่นและมีความั่นคงยั่งยืนสืบไป

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวถึงแนวทางพัฒนาและสืบสานอาชีพการเลี้ยงโคนม ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานอาชีพการเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกรไทยมาตั้งแต่ปี 2505 โดย อ.ส.ค.ได้สานต่อการพัฒนาอาชีพนี้พร้อมร่วมส่งเสริมพัฒนาวงการโคนม และอุตสาหกรรมนมไทยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งปีนี้ได้วางแนวทางพัฒนาเพื่อสืบสานอาชีพการเลี้ยงโคนมให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง เติบโตอย่างมั่นคง สามารถพึ่งตนเองและอยู่ได้อย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งภารกิจสำคัญภายใต้แผนแม่บทส่งเสริมการเลี้ยงโคนม 4.0 ของ อ.ส.ค. ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2560-2564)

kono3

"เบื้องต้น อ.ส.ค. ได้มีแผนเร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรสายกิจการโคนม โดยมุ่งสร้างนักส่งเสริมมืออาชีพหรือสมาร์ทออฟฟิศเซอร์ (Smart Officer) รวมไม่น้อยกว่า 60 คน ให้มีความเป็นเลิศและสามารถปฏิบัติงานส่งเสริมการเลี้ยงโคนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีศักยภาพในการให้ความรู้ด้านระบบการจัดการฟาร์มสมัยใหม่แก่ผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 5% ขณะเดียวกันเร่งฟื้นฟูโครงการนักเรียนฟาร์ม รุ่นละ 10-20 คน เพื่อต่อยอดและพัฒนานักส่งเสริมการเลี้ยงโคนมช่วยถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร เพื่อทดแทนนักส่งเสริมรุ่นเก่าซึ่งมีอายุสูงขึ้น พร้อมสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่และพัฒนาศักยภาพผู้จัดการฟาร์มโคนมด้วย"

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนนักเรียนฟาร์มจะได้รับการฝึกอบรมความรู้ภาคทฤษฎีและฝึกภาคปฏิบัติ เป็นระยะเวลา 9 เดือน โดยได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมโคนมทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการฟาร์ม อาหารสัตว์ การดูแลสุขภาพโคนม และการผสมเทียม เป็นต้น ซึ่งช่วงระหว่างที่เป็นนักเรียนฟาร์มจะได้รับเงินเดือนและหลังจบหลักสูตรดังกล่าว นักเรียนฟาร์มส่วนหนึ่งจะถูกคัดเลือกเข้าทำงานใน อ.ส.ค. อีกส่วนหนึ่งสามารถที่จะเป็นนักส่งเสริมของสหกรณ์โคนม หรือเป็นผู้จัดการฟาร์มโคนม และเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรุ่นใหม่ที่เป็นมืออาชีพได้ในอนาคต

kono

นอกจากนั้น ยังพัฒนาการบริหารจัดการด้านอาหารสัตว์ โดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การผลิตอาหารผสมสำเร็จรูปหรือทีเอ็มอาร์ (TMR) สำหรับเลี้ยงโคนมเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหาร TMR ให้เจ้าหน้าที่สหกรณ์และผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ และเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการผลิตอาหารสัตว์คุณภาพดี พร้อมผลิตอาหาร TMR ป้อนให้กับสหกรณ์และผู้เลี้ยงโคนมที่ต้องการใช้อาหารดังกล่าว โดย อ.ส.ค.ได้มีแนวคิดที่จะนำรูปแบบการให้บริการอาหาร TMR ของประเทศไอร์แลนด์ มาเป็นต้นแบบและประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและให้บริการอาหาร TMR สำหรับการเลี้ยงโคนมของไทยเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์โคนมของไทยให้มีความก้าวหน้า เพื่อให้ได้พันธุ์โคนมพันธุ์ดีที่มีศักยภาพสูง เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงและภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของไทย ทั้งยังมีแผนส่งเสริมและให้บริการผสมเทียมเข้มข้นมากยิ่งขึ้นและครอบคลุมทั่วถึงด้วย เน้นกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการปรับปรุงพันธุ์โคนม เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำนมดิบสูงขึ้น มีเป้าหมายให้เกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค.ได้ผลผลิตน้ำนมโคเพิ่มขึ้นจาก 12.80 กิโลกรัม/ตัว/วัน เป็น 15.57 กิโลกรัม/ตัว/วันภายในปี 2564

kono1

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ อ.ส.ค.ได้บูรณาการร่วมกับกรมปศุสัตว์ เร่งยกระดับการผลิตน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยตั้งเป้าผลักดันฟาร์มโคนมของเกษตรกรในเขตพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. จำนวน 4,332 ราย โคนมรวมกว่า 123,000 ตัว ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือจีเอพี (GAP) ปีละ 30% คาดว่า จะดำเนินการครอบคลุมครบ 100% ภายใน 3 ปี ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม ปี 2560-2569 ให้เป็นไปตามแนวทางที่วางไว้

อีกทั้งยังมุ่งส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงโคนมเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ (Smart Farmer) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดเพิ่มขึ้น มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนฟาร์มโคนมของเกษตรกรสมาชิกมีคุณภาพน้ำนมดิบสูงขึ้นจากเดิมปีละ 10% โดยวัดจากค่าเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือโซมาติกเซลล์ (SCC) ไม่เกิน 400,000 เซลล์/มิลลิลิตร ปริมาณของแข็งทั้งหมด (TS) ไม่น้อยกว่า 12.50% เป็นต้น เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูป และเน้นให้ปรับลดต้นทุนลง จะทำให้ผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/คน/ปี และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรมีความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพ

kono5

“ที่สำคัญจะเร่งสร้างยังสมาร์ทฟาร์เมอร์ (Young Smart Farmer) หรือสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนรุ่นเดิม โดยจะพัฒนาฟาร์มโคนมให้มีความทันสมัยสอดรับยุคการเลี้ยงโคนม 4.0 เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันเข้าสู่อาชีพการเลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้น อันจะนำไปสู่การสืบทอดอาชีพการเลี้ยงโคนมจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสืบสานและคงไว้ซึ่งอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และเป็นพลังขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมนมไทยในอนาคต” ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว