ไฟเขียวกรอบ-งบลงทุน รสก.

26 ก.ย. 2560 | 12:01 น.
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)(26กันยายน2560) อนุมัติกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ

2561 วงเงินดำเนินการ 1,975,414 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 846,337 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. และการลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2561 ให้ดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว

primelo

โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับเพิ่มกรอบวงเงินดำเนินการและกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุน ให้สอดคล้องกับมติครม.ที่อนุมัติโครงการลงทุนเพิ่มเติมระหว่างปี เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า 95% ของกรอบวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน

“ครม.มีมติเห็นชอบเพิ่มเติมให้สภาพัฒน์ สามารถปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจในอนาคต
โดยสามารถปรับลดได้นั้น จากเหตุผลปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้เท่านั้น
และให้รัฐวิสาหกิจรายงานความคืบหน้าของการลงทุนให้สภาพัฒน์ได้รับทราบทุกวันที่ 5 ของเดือนอย่างเคร่งครัด”

นอกจากนี้ยังได้รับทราบประมาณการงบทำการประจำปีงบประมาณ 2561 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 125,318 ล้านบาท ส่วนในปี 2562-2564 คาดว่ารัฐวิสาหกิจจะมีการลงทุนเฉลี่ยปีละ 697,106 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิ 148,665 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังพิจารณากลั่นกรองงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ เมื่อพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ มีผลในทางปฏิบัติเพื่อให้การกลั่นกรองมีเอกภาพ

kobs

สำหรับการพิจารณาโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ
1.ความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี, กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564), สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจและแนวนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล
2.ความจำเป็นในการลงทุนตามภาระผูกพันและตามภารกิจ
3.ความพร้อมในการลงทุนทั้งด้านกายภาพและฐานะการเงิน ภายใต้ความโปร่งใสในการดำเนินการ

ทั้งนี้ เมื่อได้พิจารณาแล้วสศช.สามารถจำแนกวงเงินเบิกจ่ายงบลงทุนตามแผนฯ ฉบับที่ 12 ได้ 8 ด้าน คือ
1.การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
2.การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
3.การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
4.การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

5.การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
6.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์
7.การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม
8.การพัฒนาภาคเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ
นอกจากนี้ สศช.ยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และข้อเสนอแนะระดับกระทรวงและรัฐวิสาหกิจด้วย

e-book