รีดภาษีที่ดินพุ่ง5เท่า ห้องชุด-บ้านหรู20ล้านอัพในเมืองยันชานเมืองไม่รอด

30 ก.ย. 2560 | 11:02 น.
ภาษีที่ดินป่วนตลาดบ้านระดับบน เคาะราคา 20 ล้านอัพจาก 50 ล้าน ดีเวลอปเปอร์เผย คอนโดฯ-บ้านหรูในเมือง-ชานเมืองไม่รอด ขณะที่กูรูบ้านจัดสรรยันช่วยท้องถิ่นมีรายได้เพิ่ม ฉุดยอดจัดเก็บพุ่ง 5 เท่า

จากเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติให้บ้านหลังแรกมูลค่าตํ่ากว่า 20 ล้านบาทได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากเดิมกำหนดให้ราคา 50 ล้านบาทเพื่อขยายฐานการจัดเก็บรายได้กว้างขึ้น

นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีรัฐยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้บ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 20 ล้านบาท จะส่งผลต่อตลาดบ้านระดับบนที่เปิดขายราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป ถือเป็นการขยายฐานที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 5 เท่า หรือ 7,000-8,000 หน่วย จากเดิมกำหนดให้จัดเก็บเฉพาะบ้านราคาตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยที่บ้านหรูราคาระดับนี้มีไม่มากและส่วนใหญ่จะอยู่ย่านใจกลางเมืองในกรุงเทพ มหานครซึ่งเป็นคอนโดมิเนียม และชานเมืองจะเป็นบ้าน อย่างไรก็ดี บริษัทพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นค่ายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็พัฒนาบ้านระดับบนออกขายกันมาก เพราะตลาดกลุ่มนี้มีกำลังซื้อ แต่มีไม่มาก และบริษัทพัฒนาบ้านตั้งแต่ราคา 2 ล้านบาทขึ้นไปจนถึงราคา 50 ล้านบาท กระจายอยู่ในกทม.และปริมณฑล

“เป็นไปได้ว่าหากผู้ซื้อบ้านไม่ต้องการเสียภาษี ก็อาจมองหาบ้านที่ตํ่ากว่า 20 ล้านบาทลงมาเล็กน้อย อีกมุมหากผู้บริโภคมีรายได้สูงมีความพึงพอใจอยากได้บ้านระดับสูง 20 ล้านบาทขึ้นไป คงยินดีที่จะเสียภาษีเพื่อให้ท้องถิ่นนำไปใช้พัฒนาสาธารณูปโภคซึ่งกลุ่มระดับบนจะไม่กระทบเพียงแต่มีภาระเพิ่มขึ้นเท่านั้น”

MP29-3300-A สอดรับกับนายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร มองว่าการปรับลดเกณฑ์จัดเก็บภาษีบ้านหลังแรกลงเชื่อว่าเป็นผลดีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)อย่างกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะขยายวงจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ที่สำคัญหากคนมีเงินซื้อบ้านเกิน 20ล้านบาทได้ ถือว่ามีรายได้สูงพอที่จะช่วยประเทศพัฒนาสาธารณูปโภคโดยเฉพาะท้องถิ่นของตนเอง

นายวสันต์ เคียงศิริอุปนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวถึงพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า จนถึงปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวยังมีข้อถกเถียงอยู่มาก โดยเฉพาะอัตราการจัดเก็บยังไม่สรุป เมื่อถึงเวลาจัดเก็บจริงจะเป็นอัตราเท่าไรก็ไม่อาจทราบได้ อย่างไรก็ตาม โดยหลักแล้วคิดว่าควรจะพยายามจัดเก็บให้น้อย แต่เก็บในวงกว้าง ให้ทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ก็อาจจะจัดเก็บได้มากกว่าที่จะจัดเก็บในวงแคบ และเรียกเก็บสูงๆ อาจจะทำให้เกิดเพิ่มความเหลื่อมลํ้าอีก กรณีคนที่ไม่สามารถจ่ายภาษีที่ดินได้ก็ต้องขายไป และผู้ที่ซื้อที่ดินก็กลายเป็นนายทุนรายใหญ่ กลับกลายเป็นว่าถูกบังคับให้ต้องขายที่ดินออกไป ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ

ด้านนายนภดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมอบต. กล่าวว่า ที่ผ่านมาที่ดินหัวไร่ปลายนา และบ้านต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่กับภาษีโรงเรือนแม้จะเป็นอัตราที่ตํ่า แต่ภาษีที่ดินใหม่กลับหลุดเกือบหมด แม้จะขยับเกณฑ์ราคาจัดเก็บให้ตํ่าลง ก็ไม่ช่วยให้ท้องถิ่นไกลปืนเที่ยงจัดเก็บรายได้จากส่วนนี้ เพราะบ้านระดับนี้ในต่างจังหวัดหายาก รวมทั้งประเภทพาณิชยกรรม ที่พื้นที่ห่างไกล มีแต่พื้นที่เกษตรกรรมขณะที่ทุนใหญ่ที่มีที่ดินก็เล่นแร่แปรธาตุหมดแล้วแต่จังหวัดหัวเมืองใหญ่น่าจะจัดเก็บได้โดยเฉพาะชาวบ้านจะกระทบมากคือประเภทพาณิชย์

อย่างไรก็ดี นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้เว้นภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยให้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากที่รัฐบาลได้เสนอให้เว้นไม่เกิน 50 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สนช. เห็นควรให้ลดอัตราภาษีเก็บจริงสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยลดลง เพื่อไม่เป็นภาระกับผู้มีบ้านมากจนเกินไป

[caption id="attachment_158811" align="aligncenter" width="503"] นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ[/caption]

นอกจากนี้กรรมาธิการยังต้องพิจารณาว่า เมื่อลดการเว้นภาษีบ้านไม่เกิน 20 ล้านบาท จะต้องไปลดการเว้นภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรลงด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้มีความสอดคล้องกันและเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีทุกกลุ่ม ป้องกันปัญหาการเลือกปฏิบัติ

“หลังจากนี้จะต้องส่งเรื่องให้สนช. เห็นชอบในวาระ 3 ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำได้ภายในปีนี้ โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562” นายวิสุทธิ์ กล่าว

นายวิสุทธิ์กล่าวว่าที่ผ่านมากรรมาธิการได้ขยายเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินเพิ่มอีก 60 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดเดือนกันยายน 2560 นี้ อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายนนี้ มีการหยุดประชุมหลายครั้งทำให้อาจจะต้องขยายเวลาการพิจารณาอีกครั้งเป็นเวลา 30 หรือ 60 วัน เพื่อพิจารณารายละเอียดของกฎหมายอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามาให้พิจารณาจำนวนมาก

ทั้งนี้ อัตราเพดานภาษีที่รัฐบาลเสนอให้ สนช. พิจารณา นั้นแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. ที่ดินเพื่อการเกษตรมีเพดานภาษี 0.2% และให้เว้นเก็บภาษีที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่ดินมูลค่า 50-100 ล้านบาท ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05% และมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ให้จัดเก็บภาษี ในอัตรา 0.10%

[caption id="attachment_204368" align="aligncenter" width="503"] อิสระ บุญยัง อิสระ บุญยัง[/caption]

2. เป็นที่ดินเพื่ออยู่อาศัยเพดานภาษี 0.5% เว้นภาษีบ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท บ้าน 50-100 ล้านบาท ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05% และเกิน 100 ล้านบาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.10% สำหรับบ้านหลังที่ 2 มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.03% บ้าน 50-100 ล้านบาท ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05% และเกิน 100 ล้านบาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.10%

3. ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ และประเภทที่ 4 ที่ดินว่างเปล่า กำหนดเพดานภาษีไม่เกิน 2% โดยมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.3%, มูลค่า 20-50 ล้านบาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.5%, มูลค่า 50-100 ล้านบาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.7%, มูลค่า 100-1,000 ล้านบาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.9%, มูลค่า 1,000-3,000 ล้านบาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 1.2% และมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 1.5% อย่างไรก็ตาม ในส่วนของที่ดินว่างเปล่า หากไม่มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.5% ทุกๆ 3 ปี แต่สุดท้ายต้องไม่เกิน 5%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,300 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1