ฟันธง! ตรึงดอกเบี้ย ยก 5 เหตุกดดันกนง.ไม่กล้าพลิ้ว เงินเฟ้อจ่อขยับ

25 ก.ย. 2560 | 12:20 น.
นักวิชาการยก 5 เหตุผลใหญ่ ฟันธงแบงก์ชาติคงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ในการประชุม 27 กันยายนนี้ ทั้งเศรษฐกิจฟื้น เงินเฟ้อตํ่า เฟดจ่อขึ้นดอกเบี้ย ส่งออกยังโตสวนทางบาทแข็ง หวั่นส่งสัญญาณผิดพลาดก่อผลเสียมากกว่าผลดี

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 6 ของปี 2560 ในวันที่ 27 กันยายนที่จะถึงนี้ นับว่าเป็นการประชุมที่ถูกจับตามากที่สุดในรอบปี หลังจากผ่านมา 5 ครั้งในปีนี้ และ 14 ครั้งเมื่อ 2 ปีก่อน กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% จนตลาดทำท่าจะชาชิน แต่ประเด็นดอกเบี้ยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ผู้ประกอบการส่งออก ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ลดดอกเบี้ย เพื่อดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่า 8% ตั้งแต่ต้นปี จนได้รับผลกระทบ ขณะที่มีแรงสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ที่ต้องการให้ธปท.ลดดอกเบี้ยลงเช่นกัน เช่นเดียวกับปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ออกมาเรียกร้องให้ธปท.ใช้นโยบายการเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เสริมนโยบายการคลัง

 

ขณะที่ผู้ว่าการ ธปท.นายวิรไท สันติประภพ แม้จะมีท่าทีเปิดกว้างพร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย แต่ก็ยังยืนยันหลักการนโยบายธนาคารกลาง ที่ต้องกำกับดูแลนโยบายการเงินให้ได้จุดที่สมดุลมากที่สุดการลดดอกเบี้ยจึงเป็นหน้าที่ของกนง. ตัดสินใจ

 

“ฐานเศรษฐกิจ”สำรวจความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ กูรูตลาดเงินและตลาดทุนต่อมุมมองของการประชุมกนง.ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เห็นว่า แม้กนง.จะเปิดรับข้อเสนอแนะจากคนนอกมากขึ้น แต่เชื่อว่ามติเอกฉันท์ จะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% ต่อไป

 

ภายใต้ 5 เหตุผลหลักคือ 1.รอผลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนธันวาคม 2. ตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งให้ขยายตัวค่อนข้างดีและต่อเนื่อง 3.ภาคส่งออกที่ยังสะท้อนการขยายตัวและทำตลาดได้ดีต่อเนื่อง 4.อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยดึงดูดเงินทุนไหลเข้าเพียงปัจจัยเดียว และ 5. เงินเฟ้อหลายประเทศอยู่ในระดับตํ่า

MP24-3299-A “เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจมีโมเมนตัมไปได้ จากตัวเลขการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ยิ่งไม่มีเหตุผลต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนเงินเฟ้อตํ่า เป็นสถานการณ์เช่นหลายประเทศ เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ประชากรสูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และอี-คอมเมิร์ซที่เอื้อให้ผู้บริโภคตรวจสอบราคาสินค้าตัดโอกาสผู้ประกอบ การจะปรับเพิ่มราคาเหมือนที่ผ่านมา” นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ กล่าว

 

นายชยนนท์ รักกาญจ นันท์ กรรมการบริหาร บล.อินฟินิติ จก. เชื่อว่า กนง.จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ เนื่องจากเฟดส่งสัญญาณชัดแล้วว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ดังนั้นในสิ้นปีโอกาสที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯจะอยู่ในระดับใกล้เคียง หากไทยลดดอกเบี้ยนโยบาย จะเป็นปัญหามากกว่า ธปท.จึงน่าจะเลือกใช้เครื่องมืออื่นในการดูแลค่าเงินและอัตราเงินเฟ้อ

 

นายชยนนท์ กล่าวต่อว่าโดยรวมธปท.ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมแล้ว เพราะในตลาดทุน นักลงทุนต่างชาติยังประเมินเศรษฐกิจไทยว่าผ่านจุดตํ่าสุดและเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มขยับขึ้นจากเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 0.32% น่าจะตํ่าสุดของปีนี้แล้ว

 

“สัญญาณเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 เติบโต 3.7% ปัจจัยหลักจากภาคส่งออกและท่องเที่ยว หากต้องการให้เกิดการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ สามารถใช้นโยบายกระตุ้นจากภาคการคลังได้ ซึ่งคาดว่าทางการพยายามหาแนวทางกันอยู่ น่าจะเห็นกิจกรรมต่างๆออกมาหลังเดือนตุลาคมปีนี้”

 

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เชื่อว่า กนง.จะให้นํ้าหนักเรื่องเสถียรภาพ ซึ่งเป็นประเด็นหลักของไทย หากดูความเห็นของบอร์ดกนง.เดือนสิงหาคม ยังโฟกัสเสถียรภาพระบบการเงินที่สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ และยังติดตามความเสี่ยงในบางจุด แม้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยสะท้อนการขยับขึ้นค่อนข้างดีและการหลุดกรอบของเงินเฟ้อที่อยู่ระดับตํ่า เป็นกรอบปกติสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องการสร้างเสถียรภาพไม่น่ากังวล

 

ขณะที่นายสันติธาร เสถียรไทย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ภูมิภาคเอเชีย บริษัท เครดิตสวิสฯ กล่าวว่า ตามสภาพเศรษฐกิจแล้วมีช่องให้ลดดอกเบี้ยอยู่เหมือนกัน ทั้งเงินเฟ้อที่ตํ่าและเงินบาทที่แข็งค่ากว่าภูมิภาคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแม้จะดูดีขึ้นแต่การลงทุนยังอ่อนแอ

 

อย่างไรก็ตามคาดว่าโอกาสที่ธปท.จะลดดอกเบี้ยคงน้อยลงไปยิ่งกว่าเดิม เพราะอาจกลัวว่าถ้าลดตอนนี้จะทำให้ดูว่าการดำเนินนโยบายการเงินไม่เป็นอิสระ (Central bank Independence) ที่สำคัญหากดูจากการแข็งค่าของเงินบาทส่วนหนึ่งมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1-11