ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50%

22 ก.ย. 2560 | 11:14 น.
ประชุมกนง. 27 ก.ย. 2560 คาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% เพื่อประเมินความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ ที่ยังคงมีความเสี่ยงในระดับสูง

ประเด็นสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุม กนง. รอบที่หกของปี 2560 ในวันที่ 27 ก.ย. 2560 นี้ ซึ่ง กนง. คงจะพิจารณาน้ำหนักจากหลายๆปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อาจเข้ามากระทบกับภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ท่ามกลาง สถานการณ์ของตลาดการเงินโลกที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่อง ในการประชุมวันที่ 27 ก.ย. 2560 โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้

คณะกรรมการนโยบายการเงินคงเฝ้าติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หรือไม่ โดยแม้ว่าภาพรวมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวไว้ได้ แต่ประเด็นด้านความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทย ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ทำให้ กนง. คงจะจับตาความเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ต่อไป อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าการใช้นโยบายการเงินต้องมีการพิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย รวมทั้งผลกระทบข้างเคียงจากการใช้นโยบายอย่างรอบคอบ ซึ่งรวมไปถึงมาตรการเฉพาะด้านในการดูแลประเด็นต่างๆ

ปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นประเด็นความเสี่ยงของเงินทุนเคลื่อนย้ายรอบใหม่ ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือที่อาจจะส่งผลต่อภาคการผลิตในภูมิภาคเอเชีย การที่จีนถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจาก S&P อาจส่งผลต่อการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง รวมทั้ง การปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่เฟดได้เริ่มกระบวนการปรับลดงบดุล อันอาจจะส่งผลต่อสภาพคล่องโดยรวมของตลาดการเงินโลกที่อาจจะอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดสถานการณ์ที่นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุนไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่มีอยู่ การเก็บพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการเงินอาจเป็นหลักประกันที่ดีในการรับมือกับพัฒนาการของสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่

ประเด็นพฤติกรรมแสงหาผลตอบแทนของนักลงทุน รวมทั้ง ระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อเนื่อง โดยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำยาวนาน ส่งผลให้ประชาชนยังมีความพยายามที่จะแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้นอยู่ต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง รวมทั้ง การลงทุนทางเลือกอื่นๆ ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในระดับสูง นอกจากนี้ ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ อาจจูงใจให้ประชาชนก่อหนี้มากขึ้น อันอาจจะสะสมความเปราะบางต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากระดับอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าปรับสูงขึ้น

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ มองไปในระยะข้างหน้า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะทรงตัวในระดับปัจจุบันอีกระยะ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยคงจะรอประเมินถึงพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่เข้ามากระทบ อย่างไรก็ดี ด้วยพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่การขยายตัวของเศรษฐกิจยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดีอยู่ น่าจะทำให้ กนง.สามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันที่ 1.50% อันเป็นระดับที่มีความผ่อนคลายและสามารถประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสถานการณ์ปัจจุบันได้อยู่ อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศจีน และการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางขนาดใหญ่ที่คงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า คงเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินของประเทศน่าจะทำให้ กนง. ยังมีความระมัดระวังต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดย กนง.น่าจะยังคงติดตามพัฒนาการต่างๆรอบด้าน และชั่งน้ำหนักถึงผลกระทบก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินให้เหมาะสมต่อไป

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว