คำพิพากษากลางคดี‘ข้าวจีทูจี’ (2) ไขปมซื้อขาย‘แท้ vs เทียม’

20 ก.ย. 2560 | 05:11 น.
หลังได้รับแจ้งจากหน่วยงานคณะกรรมการควบ คุมและบริหารทรัพย์สินแห่งรัฐบาลจีนมณฑลห่ายหนานว่า เป็นรัฐวิสาหกิจ ผู้มีอำนาจลงนามคือ นายเซี่ยเหมี่ยน แล้ว นายมนัส อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในขณะนั้นได้ทำบันทึกลงวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ขอความเห็นชอบผลการเจรจาอ้างว่า คณะผู้แทนของบริษัทห่าย หนานฯ นำโดย “นายเซี่ยเหมี่ยน” เดินทางมาไทยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 เพื่อเจรจาซื้อขายข้าวจีทูจีกับไทย โดยนายมนัส เป็นหัวหน้าคณะผู้เจรจา

ได้ข้อสรุปว่า บริษัทห่ายหนานฯ ประสงค์ขอซื้อปลายข้าวเหนียวปีการผลิต 2554/55 และปีการผลิต 2555 ปริมาณ 8 หมื่นตัน เสนอราคาซื้อตันละ 13,800 บาท โดยฝ่ายไทยแจ้งว่า มีข้าวเหนียวในสต๊อก 65,963 ตัน กำหนดเวลารับมอบใน 1 เดือน เสนอขายตันละ 14,230 บาท ซึ่งนายบุญทรงได้ให้ความเห็นชอบและราคาตามข้อเสนอของบริษัทห่ายหนานฯ รวมถึงการขอรับการแก้ไขบันทึกผลสรุปการเจรจาระหว่างบริษัทห่ายหนานฯ กับกรมการค้าต่างประเทศ กรณีที่บริษัทห่ายหนานฯ ขอปรับเพิ่มปริมาณปลายข้าวเหนียวอีก 1.5 หมื่นตัน หรือจาก 5 หมื่นตัน เป็น 6.5 หมื่นตัน ตามที่นายมนัส ทำบันทึกเสนอมาในวันเดียวกันนั้นเอง (3 ก.ย.54)

2 วันถัดมาบริษัทห่ายหนานฯ มีหนังสือแจ้งว่า ได้แต่งตั้งให้ นายลิตร พอใจ (จำเลยที่ 9) เป็นผู้แทนรับมอบอำนาจในการชำระค่าข้าว และดำเนินการด้านต่างๆ ของบริษัทห่ายหนานฯ

6 กันยายน 2555 นายมนัส ลงนามในสัญญาฉบับที่ 4 ตามข้อสรุปของการเจรจาดังกล่าวข้างต้น มีเงื่อนไขชำระเงิน 3 วิธีคือ ชำระแบบ L/C ชนิดเพิกถอนไม่ได้หรือโอนเงินผ่านธนาคาร หรือแคชเชียร์เช็ค กำหนดมอบให้แล้วเสร็จใน 1 เดือนนับจากวันส่งมอบครั้งแรก โดยข้าวตามสัญญาจะต้องใช้บริโภคในประเทศของผู้ซื้อเป็นหลัก แต่ผู้ซื้ออาจส่งข้าวให้ประเทศที่ 3ในลักษณะของการค้าหรือการบริจาคได้

การรับมอบข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวฉบับที่ 1-3 มี นายสมคิด และ นายรัฐนิธ เป็นตัวแทนชำระเงินและรับมอบข้าวตามสัญญาฉบับที่ 1 จำนวน 1,820,815.66 ตัน ฉบับที่ 2 จำนวน 1,402,537.86 ตัน และฉบับที่ 3 จำนวน 1,654,453.13 ตัน ส่วนฉบับที่ 4 มี นายลิตร เป็นตัวแทนชำระเงินและรับมอบข้าว จำนวน 61,383.22 ตัน ทั้ง 4 สัญญาชำระด้วยแคชเชียร์เช็คหลายร้อยฉบับ

++แนวปฏิบัติขายข้าวจีทูจี
ในขณะที่คำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานหลายปาก เช่น นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ให้การว่า สมัยเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ครม.มอบหมายให้เป็นประธานคณะทำงานร่างกรอบยุทธศาสตร์ระบายมันสำปะหลัง โดยในการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายมันสำปะหลังเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 ที่ประชุมมีมติว่า การเจรจาขายแบบ Government to Government หรือ G to G นั้น ให้ “G” ของประเทศผู้ซื้อ ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากประเทศผู้ซื้อนั้นด้วย และได้ส่งตัวอย่างร่างสัญญาขายมันสำปะหลังแบบจีทูจีไปหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งให้ความเห็นกลับมาว่า ร่างสัญญาที่ส่งมาให้พิจารณานั้นแม้จะยังไม่มีรายละเอียดผู้มีอำนาจลงนามในผู้ซื้อและผู้ขาย แต่เป็นหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ แต่ยังไม่ครบองค์ประกอบเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี เนื่องจากผู้ลงนามในสัญญาต้องเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้ลงนามแทนรัฐ

[caption id="attachment_208847" align="aligncenter" width="503"] ปกรณ์ นิลประพันธ์ ปกรณ์ นิลประพันธ์[/caption]

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นักกฎหมายกฤษฎีกาผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ถ้อยคำว่า โดยธรรมชาติสัญญาแบบรัฐต่อรัฐต้องเป็นผู้มีอำนาจแทนรัฐ อันได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือผู้ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ส่วนฝ่ายคู่สัญญาก็ต้องมีฐานะในทางกฎหมายเท่าเทียมกัน

นายเกริกไกร จีระแพทย์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เอกอัคร ราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และรมว.พาณิชย์ ก็ให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่า สัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ คู่สัญญาต้องเป็นตัวแทนของรัฐผู้ซื้อโดยแท้จริง รวมถึง นางอรนุช โอสถานนท์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และรมช.พาณิชย์ และ นายสกล หาญสุทธิวารินทร์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ต่างยืนยันว่า การซื้อขายข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐ คู่สัญญาต้องกระทำในนาม หรือเป็นตัวแทนของรัฐเป็นสำคัญ อาจเป็นรัฐมนตรี หรือหน่วยงาน องค์กร รัฐวิสาหกิจก็สามารถกระทำได้

เมื่อพิจารณาความเห็นของกฤษฎีกาประกอบความเห็นของข้าราชการระดับสูงสอดคล้องกัน ทั้งยังได้ความด้วยว่า แนวปฏิบัติของกรมการค้าต่างประเทศในการทำสัญญาซื้อขายแบบจีทูจี ก็เป็นการทำสัญญาซื้อขายกับองค์กร หน่วยงาน หรือรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐผู้ซื้อมาโดยตลอด ประการสำคัญผลแห่งการทำสัญญานั้นย่อมก่อให้เกิดผลผูกพันต่อรัฐคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา ผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาจึงต้องได้รับมอบหมายจากรัฐคู่สัญญาด้วย ทั้งยังได้ความจาก นายเกริกไกร นางอรนุช และนางสาวชุติมา อีกว่า การทำสัญญาซื้อขายแบบจีทูจีนั้น จุดประสงค์สำคัญเพื่อการระบายข้าวออกนอกประเทศ ให้ข้าวไปตกอยู่แก่รัฐผู้ซื้อ และให้เงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ

[caption id="attachment_208850" align="aligncenter" width="503"] เกริกไกร จีระแพทย์ เกริกไกร จีระแพทย์[/caption]

จากพยานหลักฐานดังกล่าว การทำสัญญาจีทูจี ผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาจึงต้องเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากรัฐผู้ซื้อโดยอาจมอบหมายให้บุคคล หน่วยงาน องค์กร หรือรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อระบายสินค้าที่ตกลงซื้อขายออกนอกประเทศ นำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ โดยวิธีการซื้อขายเกิดจากการเจรจาระหว่างผู้แทนของแต่ละฝ่าย ไม่ได้ประมูลแข่งขันกัน บางครั้งอาจตกลงซื้อขายในราคาตํ่ากว่าตลาดเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

++จีนยันผ่านCOFCOเท่านั้น
ขณะที่ นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และประธานกรรมการบริษัทไรซ์แลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทำธุรกิจส่งออกข้าวมาตั้งแต่ปี 2520 ให้ข้อมูลว่า จีนให้หน่วยงานชื่อ China National Cereals, Oil and Foodstuff Import and Export Corporation (COFCO) เป็นตัวแทนการลงนามในสัญญาซื้อขายแบบจีทูจี

แนวปฏิบัติของ กรมการค้าต่างประเทศ ที่ผ่านมาจะมอบหมายให้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ไปจัดสรรโควตาให้ผู้ประกอบการค้าข้าวซึ่งจากสถิติส่งออกย้อนหลัง 3 ปี บางครั้งก็เปิดประมูลให้ผู้ส่งออกข้าวแข่งขันกัน ด้วยเหตุนี้ ทำให้สมาคมต้องประสานงานกับ COFCO มาตลอดจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งนายวิชัย ก็คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ของ COFCO หลายคน

หลังเกิดเหตุคดีนี้ขึ้นได้ติดต่อ มาดามหยางหงส์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน และนาย อเล็กซ์ ลี ผู้ช่วยของมาดามหยางหงส์ได้ข้อมูลว่า การนำเข้าข้าวของจีนจะมี คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ (National Development and Reform Commission-NDRC) เป็นผู้กำหนดสัดส่วน หรือโควตานำเข้าโดยแบ่งสัดส่วนนำเข้าข้าวให้ COFCO เป็นผู้นำเข้าข้าวแบบจีทูจี เพียงหน่วยงานเดียว

ส่วนองค์กรหรือหน่วยงานอื่นที่ NDRC กำหนดสัดส่วนหรือโควตานำเข้าข้าวในลักษณะของเอกชนนั้น ช่วงหลายปีนี้ NDRC กำหนดโควตานำเข้าข้าว 5.3 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวเมล็ดยาวและข้าวเมล็ดสั้นอย่างละครึ่ง ซึ่งการนำเข้าภายใต้โควตาจะเสียภาษีนำเข้า 1% นอกโควตาจะเสียภาษีนำเข้า 65% โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2556 นายอเล็กซ์ ลี ได้ส่งอี-เมลแจ้งว่า การนำเข้าข้าวของจีนแบบจีทูจีนั้นดูได้จากประกาศผ่านเว็บไซต์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่จะระบุว่า หน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการในฐานะตัวแทนของรัฐบาลจีนสำหรับสินค้าธัญพืชทุกชนิดในรายการที่ 1-18 ได้แก่ NDRC หรือ COFCO เท่านั้น

สอดรับกับถ้อยคำของ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ที่ว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ได้เข้าร่วมประชุมทางวิชาการซึ่งจัดโดย องค์การอาหารเกษตรสหประชาชาติ (FAO) ที่จีนได้ความว่า รัฐบาลจีนมีนโยบายผลิตข้าวเพื่อเลี้ยงตัวเอง เมื่อจะเข้าเป็นสมาชิก WTO ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศสมาชิกเปิดการค้าเสรี จีนจึงกำหนดโควตานำเข้าข้าวเป็น 2 กรณี คือ รัฐบาลนำเข้าเองโดยมอบหมายให้ COFCO เป็นผู้นำเข้าแบบจีทูจี กึ่งหนึ่งให้เอกชนเป็นผู้นำเข้าแต่ไม่ถือเป็นการนำเข้าแบบจีทูจี

นายเกริกไกร นางอรนุช นางสาวชุติมา และนายสกล ต่างยืนยันตรงกันว่า การขายข้าวแบบจีทูจีกับจีนจะเจรจาขายผ่าน COFCO เท่านั้น ไทยไม่เคยขายข้าวจีทูจีกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ของจีนแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากที่นายบุญทรง ถูกปรับออกจากตำแหน่งได้มีการขายข้าวจีทูจีให้จีนเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 ปริมาณ 1 ล้านตัน โดยจีนใช้ COFCO เป็นหน่วยงานมาเจรจาและลงนามในสัญญาซื้อขายกับกรมการค้าต่างประเทศ

++สัญญา4ฉบับจีทูจีเก๊
สัญญาขายข้าวตามฟ้องทั้ง 4 ฉบับนั้น ข้อเท็จจริงศาลรับฟังเป็นที่ยุติว่า บริษัทกว่างตงฯ และบริษัทห่ายหนานฯ ไม่ได้รับมอบหมายจากจีนให้มาทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกับกรมการค้าต่างประเทศ หลังจากสัญญาบริษัทกว่างตงฯ มีหนังสือลงวันที่ 24 ตุลาคม 2555 ถึงกรมการค้าต่างประเทศแจ้งว่า มีการส่งข้าวไปยังทวีปแอฟริกา 1.9 ล้านตัน ทวีปเอเชีย 8 แสนตัน ตะวันออกกลาง 5 แสนตัน สหภาพยุโรปและอื่นๆ 3แสนตัน แต่ไม่มีเอกสารหรือหลักฐานยืนยันว่า ได้มีการส่งออกจากประเทศไทยจริง

ขณะที่บริษัทห่ายหนานฯนั้น ไม่เคยรายงานการส่งข้าวออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งได้ความจาก นายชูชัย อุดมโภชน์ รองอธิบดีกรมศุลกากรว่า สถิติข้าวส่งออกไปยังจีนที่ส่งโดยภาครัฐและภาคเอกชนปี 2554 มีปริมาณส่งออก 92,759.41 ตัน ปี 2555 จำนวน 176,213.71 ตัน และเดือนมกราคม-มิถุนายน 2556 จำนวน 106,285.17 ตัน

ผู้ประกอบการส่งออกข้าวต่างยืนยันว่า ไม่เคยรับจ้างบริษัทกว่างตงฯ และบริษัทห่าย-หนานฯ ส่งออกข้าวไปต่างประเทศ และการส่งออกข้าวไม่ว่าจะส่งออกโดยภาครัฐหรือเอกชนเป็นผู้ส่งออก จะต้องมีใบอนุญาตที่ออก โดยกรมการค้าต่างประเทศ และต้องผ่านพิธีการศุลกากร แต่การ ไต่สวนไม่ปรากฏหลักฐานว่า ทั้ง 2 บริษัทได้ส่งออกไป ชี้ให้ เห็นว่า การทำสัญญาซื้อขายข้าวมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการระบายข้าวไปต่างประเทศมาตั้งแต่แรก สัญญาซื้อขายข้าวทั้ง 4 ฉบับจึงมิใช่เป็นสัญญาซื้อขายแบบจีทูจี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,297 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1