‘ยูบีเอ็ม’ควบรวม‘ออลเวิลด์’ ขึ้นแท่นเอ็กซิบิเตอร์เบอร์ 1 เอเชีย

17 ก.ย. 2560 | 11:47 น.
หลังจากบิ๊กเอ็กซิบิเตอร์เบอร์ 2 ของโลก อย่าง “ยูบีเอ็ม” ได้เข้าซื้อกิจการของ “กลุ่มบริษัทออลเวิลด์ เอ็กซิบิชั่น” ซึ่งเป็นเอ็กซิบิเตอร์อันดับ 5 ของโลก ด้วยเงินสดมูลค่าธุรกิจที่ 485 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การรวมกิจการที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อภาพรวมธุรกิจนี้อย่างไร อ่านได้จากสัมภาษณ์ นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการ กลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด

[caption id="attachment_208644" align="aligncenter" width="335"] รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการ กลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการ กลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด[/caption]

++ซื้อโชว์คุณภาพมาต่อยอด
คุณรุ้งเพชร เล่าให้เราฟังว่า การที่ยูบีเอ็ม ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่อยู่ในกรุงลอนดอน ได้ซื้อกิจการของกลุ่มบริษัทออลเวิลด์ เอ็กซิบิชั่น เมื่อราวเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ยูบีเอ็มกลายเป็นบริษัทผู้นำด้านการจัดงานแสดงสินค้าอันดับ 1 ในเอเชีย เนื่องจากออลเวิลด์ มีการจัดงานแสดงสินค้าอยู่หลายงานมากในเอเชีย มีการจัดงานแสดงสินค้ากว่า 51 งาน ใน 11 ประเทศ และมีธุรกิจอื่นๆ ซึ่งสำนักงานในแต่ละประเทศของออลเวิลด์ จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป อย่างในไทย จะรู้จักกันในชื่อ บีอีเอส เอ็กซิบิชั่น

กลยุทธ์ที่ยูบีเอ็ม เข้าไปซื้อกิจการของออลเวิลด์ มองว่าเราไปซื้อโชว์ที่มีคุณภาพสูงของออลเวิลด์ พร้อมนำมาต่อยอดได้ ซึ่งจะสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจการจัดแสดงสินค้าของยูบีเอ็มมากขึ้น สอดรับกลยุทธ์หลักของยูบีเอ็มที่เราจะมองโอกาสในการเติบโตจากภายใน (Organic growth) คือ การเติบโตจากโชว์ที่มีอยู่ทั้งของเราเอง และที่เราไปซื้อ รวมถึงการพัฒนางานใหม่

++รวมออฟฟิศต้นปีหน้า
หลังการเข้าไปซื้อกิจการ ก็มีการปรับโครงสร้างองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการรวมผู้บริหาร การปรับโครงสร้างการขายและการตลาด รวมทีมงานที่รับผิดชอบการจัดงานที่คล้ายกัน อีกทั้งขณะนี้ออฟฟิศของยูบีเอ็มและออลเวิลด์ ในแต่ละประเทศกำลังอยู่ระหว่างทยอยมารวมกัน เพื่อร่วมกันทำงาน สำหรับในไทยก็จะมีการย้ายทีมงานของบีอีเอส เอ็กซิบิชั่น มารวมอยู่กับยูบีเอ็ม เอเชีย ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

++จูนการจัดงานลงตัวปี62
ส่วนการรวมงานแสดงสินค้าที่จะจัดขึ้นในไทย ที่จะรวมอยู่ในปฏิทินการจัดงานของยูบีเอ็ม เอเชีย จะมีความชัดเจนในปี 2562 เนื่องจากการจัดงานต้องใช้เวลาวางแผนล่วงหน้าเป็นปี อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าโชว์ใดที่มีศักยภาพที่จะนำมารวมกันเป็นงานเดียว เพื่อยกระดับการจัดงานแสดงสินค้าให้ครบวงจรครอบคลุมตั้งแต่การผลิตต้นนํ้าไปถึงปลายนํ้า และคอนซูเมอร์ ทำให้งานใหญ่ขึ้น และตอบโจทย์อุตสาหกรรมต่างๆและส่วนที่เกี่ยวเนื่องได้เพิ่มขึ้น

อย่างงานอินเตอร์แมค (งานแสดงเทคโนโลยี เครื่องจักร เพื่ออุตสาหกรรมการผลิต) ของ ยูบีเอ็ม เอเชีย จะมารวมกับงานฟู้ด แอนด์ โฮเทล (งานแสดงสินค้าอาหารและบริการด้านโรงแรม) ที่เป็นพอร์ตของบีอีเอส หรือควรจะรวมงานฟู้ด แอนด์ โฮเทล มารวมกับ ฟู้ด อินกรีเดียนท์ (งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และนวัตกรรมส่วนผสมอาหาร สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม) ของยูบีเอ็ม เอเชีย หรือจะนำงานโพรแพ็ค เอเชีย มารวมกับงานฟู้ด แอนด์ โฮเทล เป็นต้น

ดังนั้นงานที่จะจัดในปีนี้และปีหน้า ก็ยังเป็นไปตามปฏิทินการจัดงานที่วางไว้แล้ว ทั้งการจัดงานที่เกิดขึ้นในไทยและใน ต่างประเทศของยูบีเอ็ม เอเชีย ซึ่งในปลายปีนี้ เราเตรียมจะจัดงานอินเตอร์แมค และซับคอน ที่เมียนมา ช่วงวันที่ 20-22ตุลาคมนี้

ทั้งหมดล้วนเป็นก้าวใหม่สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,297 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1