ปลัดคลังเปิดศึกแบงก์ชาติบี้ “หั่นดอกเบี้ย” สกัดค่าเงินบาทแข็ง

13 ก.ย. 2560 | 13:57 น.
ปลัดคลังเปิดศึกแบงก์ชาติบี้ “หั่นดอกเบี้ย” สกัดค่าเงินบาทแข็งนักเศรษฐศาสตร์เห็นต่าง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการคลัง ขณะนี้ถือว่าทำไป มากแล้ว ขณะที่ค่าเงินบาทเองก็แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ดังนั้นการลดดอกเบี้ยก็จะช่วยลดการเก็งกำไรลงได้ด้วย

“ผมไม่เข้าใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ปล่อยให้เงินไหลเข้ามาจำนวนมากได้อย่างไร จะให้มาสร้างโรงพยาบาลเหรอ ทั้งที่เงินเฟ้อเองก็ไม่น่าห่วงเพราะตํ่าอยู่แล้ว”

สำหรับแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง นายสมชัย กล่าวว่า ยังไปได้ หากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เดินไปในทิศทางเดียวกันทั้งนโยบายการเงินนโยบายการคลัง

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังเป็นระดับที่เหมาะสม รักษาสมดุลใน 3 เป้าหมาย คือ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงิน
“กนง.มีความเป็นห่วง หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง หรือพฤติกรรมการประเมินความเสี่ยงที่ตํ่าเกินไป Search For Yield”

MP24-3296-A คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธปท. ประชุมวาระปกติล่าสุด วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 มีมติคงอัตราดอกเบี้ย 1.5% เป็นครั้งที่ 15 ติดต่อกัน ด้วยเหตุผลเดิมๆ กลัวพฤติกรรม Search For Yield ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรกว่า 2.95 แสนล้านบาท

นายนริศ สถาผลเดชาเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวคิดให้ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องแยกเป็น 2 ประเด็นคือ 1.ลดดอกเบี้ย เพราะกระแสเงินทุนไหลเข้าค่อนข้างเยอะ อาจจะไม่เห็นด้วยว่าจะสามารถช่วยลดกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติได้

โครงสร้างสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะมาจากดุลชำระเงิน (BOP) ที่สะท้อนดีมานด์และซัพพลายของเงินบาท จะเห็นว่ามีเงินไหลเข้ามาในช่องทางต่างๆ จำนวนมาก ทั้งจากการส่งออก และการท่องเที่ยวที่บูม แม้ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จะมีผลทำให้บาทอ่อนเพียงนิดเดียว และมีผลจำกัด

2.การลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นการลงทุนหรือการบริโภค อาจจะช่วยเสริมการลงทุนได้ แต่ต้องร่วมกับนโยบายการส่งเสริมทางการคลังด้วย

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ย เพราะ 1.ช่วยเติมเงินในกระเป๋าของคนซื้อ แต่ต้องในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยลงตามทันที 2.หากธปท.ส่งสัญญาณ ตลาดจะปรับตาม และ 3.ค่าเงิน หากลดดอกเบี้ย 0.25-0.50% คงไม่ได้ช่วยให้บาทอ่อนลงไปถึงระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯได้ แต่จะสามารถช่วยหยุดดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาทในตอนที่แข็งค่า สะท้อนว่าธปท.มีเครื่องมือมาช่วยนอกจากเข้าไปแทรก แซงหรือพูดขู่เท่านั้น

“ในมุมมองตลาดเงินให้นํ้าหนัก ลดดอกเบี้ย เพราะยังมองไม่เห็นคนที่ได้ประโยชน์จากการคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% การไม่เปลี่ยนดอกเบี้ยเลย ยิ่งทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นมากกว่าการลดดอกเบี้ย”

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แม้จะมีแรงกดดันจากเงินทุนไหลเข้า เงินบาทที่แข็งค่าและอัตราเงินเฟ้อหลุดกรอบ แต่การลดดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาทุกโรค ธปท.สามารถใช้เครื่องมืออื่นมาช่วยได้ แถมการลดดอกเบี้ยจะไปกระตุ้นฟองสบู่หรือไม่

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินนั้น เป็นโจทย์ธปท.ต้องชั่งนํ้าหนัก ระหว่างผลระยะสั้นและยาว เพราะการลดดอกเบี้ยมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนน้อย แต่อาจเกิดการเก็งกำไรบางส่วน

ทั้งนี้ธนาคารกลางสามารถใช้เครื่องมือแทรกแซงค่าเงิน เพื่อลดความผันผวน และควรทำระยะสั้น นอกจากนี้หากลดดอกเบี้ยลงยังกระทบผู้ออมและมีผลต่อเสถียรภาพระยะยาว และอาจกระทบระบบเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,296 วันที่ 14 - 16 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1