นายจ้างกุมขมับ! ‘ลูกจ้าง’ ขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 700 บาท/วัน

10 ก.ย. 2560 | 03:44 น.
 

ภาคอุตสาหกรรม ระบุ เป็นไปไม่ได้ที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 700 บาทต่อวัน เพราะจะกระทบกันเป็นห่วงโซ่
ภายหลังจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงาน แถลงข่าวจุดยืนเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมและเพียงพอต่อค่าครองชีพ เรื่องนี้มีความเห็นจากนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ระบุว่า ส.อ.ท.ยังไม่ทราบข้อเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเป็น 700 บาทต่อวัน ซึ่งภาคเอกชนคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ เพราะหากคิดรวมรายเดือน เท่ากับเกือบ 20,000 บาทต่อเดือน สูงกว่าค่าจ้างแรงงานผู้ที่จบระดับปริญญาตรีที่มีอัตราเงินเดือนขั้นต่ำขณะนี้ 15,000 บาทต่อเดือน

21463372_10154823860485841_3254781102413306588_n
นายเจน กล่าวว่า หากจะมีการปรับขึ้นค่าแรง 700 บาทต่อวัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มนายจ้างอาชีพบริการอาทิโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรืองานบริการอื่นๆ เพราะใช้คนงานจำนวนมาก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมโรงงานขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง ก็ได้ปรับตัวหันไปใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นเมื่อช่วงปรับขึ้นค่าแรง300 บาทต่อวัน หากจะมีการปรับขึ้นอีกรอบก็จะไม่ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ

21462689_10154823860480841_41874133529591591_n
ด้าน นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าว ไม่ใช่ตัวเลขสรุป เนื่องจากเป็นการยกตัวอย่างจากการสำรวจของ คสรท.เมื่อปี 2554 ประมาณ 4,000 ชุด ซึ่งพบว่าลูกจ้าง 1 คนต้องมีความรับผิดชอบดูแลครอบครัวอีก 2 คน รวมทั้งหมด 3 คนต้องมีค่าแรงตกวันละ 567.79 บาท แต่หากเลี้ยงดูเพียงตัวเองคือ ลูกจ้าง 1 คนต้องมีค่าแรงขั้นต่ำที่ 348.49 บาท จึงจะเพียงพอต่อค่าครองชีพ แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อและสถานการณ์ปัจจุบันจึงคาดการณ์ว่าหากต้องเลี้ยงดูครอบครัวอีก 2 คนต้องประมาณ 600-700 บาท แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องตัวเลขดังกล่าว เพราะขณะนี้ทาง คสรท.ต้องการความชัดเจนโดยได้ทำแบบสำรวจค่าจ้างและค่าใช้จ่ายของคนงานประจำปี 2560 โดยได้จัดทำ 8,000 ชุด กระจายไปช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายกันยายนนี้ และจะแถลงข่าวเดือนตุลาคม