มาตรการเยียวยาหยุดบินอินเตอร์ แอร์ไลน์ไม่ได้อานิสงส์

09 ก.ย. 2560 | 06:08 น.
หลังจากกรมการบินพลเรือน(บพ.) เดิม สอบตกในโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program; USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งที่ผ่านมาไทยใช้เวลาร่วม 2 ปี
กว่าในการแก้ไขข้อบกพร่องที่ ICAO ติงว่าไม่น่าพอใจร่วม 580 ข้อ ในจำนวนนี้เป็นข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (ICAO-SSC : Significant Safety Concerns) 33 ข้อที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน เพื่อนำไปสู่การปลดธงแดง

**ลุ้นICAOตรวจซํ้ากลางก.ย.นี้
ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) ได้ยื่นขอรับการตรวจสอบ ICAO Coordinated Validation Mission ( ICVM) ให้ ICAO มาตรวจซํ้าอีกครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาธงแดง ซึ่งคาดว่า ICAO จะเข้ามาตรวจสอบในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายนนี้

นี่จึงเป็นไทม์ไลน์สำคัญที่สายการบินที่ไม่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่(AOC-Recertification) ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2560 จะต้องระงับการให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศทันทีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมาเป็นต้นไป จนกว่าจะผ่านการตรวจประเมินAOC ใหม่ จึงจะสามารถกลับมาบินต่างประเทศได้อีกครั้ง

เนื่องจากในกระบวนการที่ได้ยื่นขอรับการตรวจสอบICVM องค์ประกอบหลักที่กพท.ต้องดำเนินการแล้วเสร็จ มี 2 เรื่องหลัก เรื่องแรก คือ การแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) 33 ข้อ ซึ่งเรื่องสำคัญที่เห็นกันอยู่ คือ การยุบบพ.ทิ้ง ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ แยกหน่วยงานด้านการกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนมาอยู่ในองค์กรใหม่อย่างกพท. และให้งานด้านการดูแลสนามบินไปอยู่ในการดูแลของกรมท่าอากาศยาน(ทย.) การจ้าง CAA International (CAAi) ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน ที่ได้รับการรับรอง และเป็นบริษัทในเครือของ UK Civil Aviation Authority (UK CAA) มาร่วมทำงานกพท.เพื่อช่วยแก้ไขข้อบกพร่อง SSC

ส่วนเรื่องที่ 2 คือ การดำเนินการออกAOC ใหม่ให้สายการบินของไทยตามมาตรฐานใหม่ กพท.ได้แจ้งให้สายการบินแสดงความพร้อมเพื่อเข้ารับการตรวจ AOC ใหม่ ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2560 กพท.ได้แจ้งลำดับในการตรวจสอบสายการบิน โดยพิจารณาลำดับของการรับการตรวจจากจำนวนการขนส่งผู้โดย สารระหว่างประเทศในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2559 และความพร้อมของสายการบิน

M22-3284-A **13 แอร์ไลน์หยุดบินอินเตอร์
ดังนั้นเพื่อไม่ได้กระทบแก่ผู้โดยสารในภาพรวม เราจึงจะเห็นว่ากพท.โฟกัสการตรวจประเมินสายการบินที่มีจำนวนผู้โดยสารมากๆ เป็นลำดับแรกๆก่อน ส่วนสายการบินเช่าเหมาลำ สายการบินขนาดเล็ก หรือสายการบินที่มีผู้โดยสารไม่มาก ก็จะอยู่ในล็อตหลังๆ เพื่อไม่ให้ไทม์ไลน์ในการยื่นขอรับการตรวจสอบ ICVM ไปยัง ICAO ต้องสะดุด และได้เรียกร้องให้สายการบินที่ยังไม่ได้รับ AOC ใหม่ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ต้องเสียสละเพื่อชาติ

เบ็ดเสร็จปัจจุบัน จึงมี 9 สายการบินที่ได้รับ AOC ใหม่ ได้แก่ บางกอก แอร์เวย์ส, การบินไทย, ไทยแอร์เอเชีย, ไทย แอร์เอเชียเอ็กซ์, นกสกู๊ต, นกแอร์, ไทยสมายล์ แอร์เวย์, ไทย ไลอ้อนแอร์, นิวเจนแอร์เวย์ส ขณะเดียวกันยังมีอีก 13 สายการบิน ได้แก่ โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ส, เค-ไมล์ แอร์, สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง, บริษัท เอช เอส เอวิเอชั่น จำกัด, สายการบินเจ็ท เอเชีย, บริษัท เอซี เอวิเอชั่น จำกัด, แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น, สกาย วิว แอร์เวย์ส, เอเชีย แอตแลนติก แอร์ไลน์ส, วีไอพี เจ็ทส์, สยามแอร์ ทรานสปอร์ต สายการบินไทยเวียตเจ็ท และเอ็มเจ็ท

ในจำนวน 13 สายการบินดังกล่าว ก็มีแนวโน้มว่าเอ็มเจ็ท แม้ในขณะนี้จะต้องหยุดบินเส้นทางบินระหว่างประเทศไปก่อน แต่จากขั้นตอนการตรวจประเมินของเอ็มเจ็ทที่อยู่ในขั้นตอน 4.2 ก็ทำให้คาดว่าใช้เวลาไม่นานก็จะได้รับ AOC ใหม่ ก็จะสามารถกลับมาบินเส้นทางระหว่างประเทศได้เร็วกว่าสายการบินอื่นๆ

**ไม่เกิน31ม.ค.61ออกAOCครบ
สำหรับสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดบินเส้นทางบินระหว่างประเทศ ภายหลังการยื่นขอตรวจ ICVM ของกพท. ทางคณะกรรมการการบินพลเรือน มีมติให้กพท.ให้ความช่วยเหลือเยียวยาชั่วคราวแก่สายการบินที่ได้รับผลกระทบ ใน 3 เรื่องหลัก (กราฟิกประกอบ) คือ 1.ให้สามารถขอทำการบินภายในประเทศ 2.สามารถจำหน่ายบัตรโดยสารให้แก่ผู้โดยสารได้ทุกช่องทางและ 3.ส่วนลดค่าบริการที่เก็บอากาศ ยาน (พาร์กกิ้ง ฟี)

โดยมาตรการนี้จะให้สิทธิเฉพาะผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับการตรวจ AOC ใหม่เท่านั้น และมาตรการนี้จะสิ้นสุดโดยอัตโนมัติเมื่อสายการบินที่ได้รับผลกระทบ ได้รับ AOC ใหม่ ทั้งนี้กพท.กำหนดไว้ว่าไม่เกิน 31 มกราคม2561 ซึ่งเป็นเวลาที่กพท.คาดว่าจะออก AOC ใหม่ให้สายการบินที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจประเมินได้แล้วเสร็จ

มาตรการดังกล่าวในมุมของสายการบิน ในทางปฏิบัติสายการบินหลายสายการบิน ส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้อานิสงส์จากมาตร การเยียวยาดังกล่าวมากนัก เนื่องจากด้วยศักยภาพของเครื่องบินที่สายการบินเหล่านี้มีอยู่ในฝูงบิน ทั้งเครื่องบินเจ็ตและเครื่องบินขนาดใหญ่ที่นำมาใช้ทำการบินแบบเช่าเหมาลำในเส้นทางบินระหว่างประเทศ ด้วยศักยภาพของเครื่องบิน การจะนำมาทำการบินภายในประเทศ ก็คงไม่คุ้มกับการเปิดบิน

ดังนั้นสายการบินเหล่านี้ต่างก็จะต้องแบกรับความเสียหายทางธุรกิจที่เกิดขึ้นกันเป็นส่วนใหญ่ ระหว่างการรอขั้นตอนการตรวจประเมิน AOC ใหม่จะ แล้วเสร็จ ที่กพท.มีเป้าหมายในใจว่าไม่เกินวันที่ 31 มกราคมนี้น่าจะออก AOC ใหม่ให้สายการบินเหล่านี้แล้วเสร็จทุกสาย งานนี้หลายสายการบินคงต้องดาวน์ไซซ์ธุรกิจไปพรางก่อน และที่สำคัญคือต้องมีสายป่านที่ยาวพอ จนกว่าจะกลับมาต่างประเทศได้อีกครั้ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว