สนพ. ขับเคลื่อน Energy 4.0 ผลักดัน “รถ EV-Energy Storage”

09 ก.ย. 2560 | 11:21 น.
ภายในงานสัมมนา “Create The Future Energy : อนาคตพลังงานไทย 4.0” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ฐานเศรษฐกิจ” และสื่อในเครือ สปริง กรุ๊ป เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา มี นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน มาเป็นประธานพิธีเปิดและร่วมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อดังกล่าว พร้อมให้สัมภาษณ์พิเศษ


ขับเคลื่อน Energy 4.0
นายทวารัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การขับเคลื่อนนโยบายพลังงานภายใต้ “Energy 4.0” ในการผลักดัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ด้านไฟฟ้าและยานยนต์แห่งอนาคต ประเทศที่กำลังพัฒนาจำเป็นต้องมีการนำนวัตกรรมมาใช้ และมีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานด้านพลังงาน โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หยิบมาผสมรวมกัน เพื่อให้เห็นภาพว่า พลังงานกับนวัตกรรมเพื่ออนาคตจะเป็นอะไรบ้าง ที่มีการพัฒนาภายใต้พลังงานฐานนวัตกรรม

ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงพลังงานน เศรษฐกิจที่มั่งคั่ง และสังคมไทยยั่งยืนในอนาคต แต่ภาพของ Energy 4.0 หรือ ภาพนโยบายใหม่ ที่จะมีชุดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องมีพลังงานจากทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนด้วย กับทิศทางของการเปลี่ยนแปลง ที่เรียกว่า เป็นเส้นทางสีเขียวสายไฟฟ้า (go green go electric) บทบาทของฟอสซิล น้ำมันจะน้อยลง และหันไปในทิศทางที่เป็นพลังงานสีเขียวมากขึ้น

ดังนั้น กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินนโยบาย Energy 4.0 ซึ่งเปลี่ยนจากการพึ่งพาฟอสซิลไปสู่นวัตกรรมมากขึ้น นำพาประเทศไทยเปลี่ยนผ่าน จากเดิมที่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ จะมีการกระจายโรงไฟฟ้ามากขึ้น แม้ว่า อาจต้องใช้ระยะเวลา โดยมีอัตราเร่ง คือ ราคาน้ำมันและนโยบายของภาครัฐ

สรุป คือ การส่งเสริมตามแนวทางนโยบาย Energy 4.0 แบ่งเป็น
1.ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งกระทรวงกำลังผลักดันรถยนต์ EV และสถานีชาร์จอย่างจริงจัง
2.ด้านระบบกักเก็บพลังงาน Energy Storage Systems กระทรวงให้ความสำคัญมาก เนื่องจากสามารถช่วยเก็บพลังงานไฟฟ้ามาใช้ช่วงที่ราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้นได้
3.โรงไฟฟ้ารุ่นใหม่ ต้องเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน (ไฮบริด) ซึ่งจะช่วยผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง และอนาคตจะกลายเป็นพลังงานที่ทดแทนพลังงานหลักได้ โดยขณะนี้ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างเปิดรับซื้อไฟฟ้า SPP Hybrid แบบสัญญาเสถียร (Firm) รอบแรก 300 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดรับซื้อในช่วงต้นเดือน ต.ค. นี้

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV
สำหรับนโยบายการใช้รถยนต์ EV กระทรวงพลังงานทำหน้าที่ดูแลด้านสายส่งไฟฟ้าและสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยจะส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีสถานีบริการชาร์จไฟฟ้าแล้วประมาณ 100 แห่ง และสิ้นปีนี้คาดว่า จะเพิ่มเป็นเกือบ 200 แห่ง แบ่งเป็นการส่งเสริมจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 150 แห่ง การไฟฟ้านครหลวง 10 แห่ง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 5-6 แห่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 1-2 แห่ง และ บมจ.ปตท. 20 แห่ง แม้ว่าปัจจุบันภาพรวมจำนวนรถยนต์ EV จะยังไม่มากนัก แต่เชื่อว่า ในอนาคตจะได้รับความสนใจจากประชาชนเพิ่มขึ้น

โดยการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ EV ในไทย แบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 (ปี 2559-2560) เตรียมความพร้อม ระยะที่ 2 (ปี 2561-2563) ขยายผลในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ และเตรียมความพร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล ระยะที่ 3 (ปี 2564 เป็นต้นไป) ขยายผลไปสู่การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนบุคคล และระยะที่ 4 (ปี 2579 เป็นต้นไป) คาดว่า จะมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาแทนที่รถใช้น้ำมันมีเป้าหมาย 1.2 ล้านคัน
เปิดเสรีขายไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานเตรียมออกประกาศเปิดเสรีขายไฟฟ้า สำหรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยผู้ประกอบการที่จดแจ้งกับทาง กกพ. แล้วจะสามารถขายไฟฟ้าได้แบบเสรี แต่กระทรวงไม่ได้เข้าไปควบคุมค่าไฟปลายทาง แต่สิ่งที่กระทรวงพลังงานควบคุม คือ เนื้อค่าไฟ ที่การไฟฟ้าฯ ขายให้กับเจ้าของสถานีชาร์จ จะกำหนดอัตราเดียวกับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก คือ “อัตราการใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลา (TOU)” แบ่งเป็น กลางวันคิดในราคา 4.10 บาท/หน่วย และกลางคืน, วันเสาร์, วันอาทิตย์ หรือช่วงออฟพีก คิดอัตรา 2.60 บาท/หน่วย ซึ่งอัตรานี้จะใช้ชั่วคราวไปก่อน จนกว่า กกพ. จะประกาศอัตราถาวรออกมา” นายทวารัฐ กล่าว

ส่วนขั้นตอนการจ่ายค่าชาร์จนั้น รูปแบบการซื้อไฟฟ้าสำหรับการชาร์จรถ EV จะพยายามกำหนดให้เป็นการใช้บัตร หรือ ระบบอี-เพย์เมนต์ โดยลูกค้าที่ใช้บริการชาร์จไฟฟ้ารถ EV จะชำระเงินโดยการแตะบัตร และจะมีการเรียกเก็บเงินไปอยู่ในบิลค่าไฟฟ้าแทนการใช้เงินสด

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการสนับสนุนให้รถตุ๊กตุ๊กที่ใช้น้ำมันและก๊าซ เปลี่ยนมาเป็น “รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า (eTukTuk) ซึ่ง สนพ. โดยกองทุนอนุรักษ์ฯ สนับสนุนงบประมาณเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กทั่วประเทศ 20,000 คัน เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าภายใน 5 ปี ซึ่ง 2 ปีแรก นำร่องจำนวน 100 คัน


ดันแหล่งกักเก็บพลังงาน
นายทวารัฐ กล่าวว่า นโยบายการส่งเสริมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เป็นก้าวสำคัญลดความเสี่ยง และสร้างเสถียรภาพให้โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยกระทรวงให้ความสำคัญมาก เพราะสามารถช่วยเก็บพลังงานไฟฟ้ามาใช้ช่วงที่ราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้นได้ ซึ่งโรงไฟฟ้ารุ่นใหม่ต้องเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน (ไฮบริด) โดยจะช่วยผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง และอนาคตจะกลายเป็นพลังงานที่ทดแทนพลังงานหลักได้

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานดังกล่าว จะนำไปสู่การต่อยอดในการขับเคลื่อน Energy 4.0 ในด้านอื่น ๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ก้าวไปสู่เมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี) ที่ใช้พลังงานทดแทนแบบครบวงจร และการพัฒนาระบบ Smart Grid ของประเทศ เป็นต้น

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7-9 ก.ย. 2560

 

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว