สศช.ชี้ภาวะสังคมไทยQ2จ้างงาน-รายได้ดีขึ้นจับตาว่างงานแรงงานใหม่

04 ก.ย. 2560 | 12:10 น.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2560 ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญได้แก่ การจ้างงาน รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่ต้องติดตาม คือการว่างงานในกลุ่มแรงงานใหม่

การจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ไตรมาส2 ปี 2560 การจ้างงานเพิ่มขึ้นครั้งแรกในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 0.4 ภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย น้ำในเขื่อนเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในช่วงไตรมาสแรกที่ดีขึ้นจูงใจให้เกษตรกรขยายกิจกรรมการเกษตร  สำหรับการจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลงในสาขาอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และโรงแรมและภัตตาคาร เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวช้าและการจ้างงานมักจะเกิดขึ้นหลังการลงทุนขยายตัวประมาณ 2-3 ไตรมาส

shh

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังใช้หลักการบริหารจัดการแรงงานที่มีอยู่ มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต การก่อสร้าง และการให้บริการ อัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อยเท่ากับร้อยละ 1.2 โดยที่ผู้ว่างงานไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 24.1 เนื่องจากเป็นช่วงจบการศึกษาและแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งประมาณร้อยละ 39 จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยปกติแรงงานกลุ่มนี้จะว่างงานสูงในช่วงไตรมาสที่สอง-ไตรมาสที่สาม และจะลดลงในไตรมาสที่สี่ของทุกๆ ปี ส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.1 โดยเพิ่มทั้งภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรมร้อยละ 1.2 และ 0.9 รวมทั้งผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3

ประเด็นด้านแรงงานที่ควรติดตามและให้ความสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ได้แก่
(1) ผลกระทบการจ้างงานและรายได้เกษตรกรจากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรอ่อนตัวลง และปัญหาอุทกภัย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 เกษตรกรมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลง โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม–มิถุนายน ราคาสินค้าเกษตรลดลงเฉลี่ยร้อยละ 4.2 และมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่ ตามราคายางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ขณะที่ราคาข้าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก นอกจากนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าในเดือนสิงหาคมและกันยายนอาจเกิดพายุที่มีโอกาสเคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยตอนบน และจะทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่

ซึ่งในเดือนดังกล่าวเป็นช่วงเพาะปลูกข้าวนาปี อาจส่งผลต่อกิจกรรมการทำการเกษตรและการจ้างงานภาคเกษตรได้ รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้อนุมัติงบประมาณในวงเงิน 1,685 ล้านบาท ครัวเรือนละ 3,000 บาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 12 เดือนโดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ และสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปีกับ ธกส. ที่ได้รับความเสียหายจะได้รับความคุ้มครองไร่ละ 1,260 บาท รวมถึงการให้กู้ปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือนสำหรับการใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

(2) การเร่งพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานให้ตรงกับความต้องการ ของตลาดแรงงานและยกระดับผลิตภาพแรงงาน ในไตรมาสสองปี 2560 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 หลังจากหดตัวต่อเนื่องในระยะ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่ดีต่อการจ้างงานใหม่ อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการแรงงานภายในองค์กร การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิตและบริการ อาจมีผลทำให้รูปแบบและความต้องการจ้างงานเปลี่ยนไป อาทิ การจ้างงานแบบสัญญาจ้างมีระยะเวลา ความต้องการแรงงานที่สามารถทำงานได้หลายหน้าที่ (Multi-Skill)

ภาครัฐได้มีการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เช่น การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ที่เน้นการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงานในสถานประกอบการจริง อีกทั้งโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ เช่น โครงการ Excellent Model School ความร่วมมือกับประเทศเกาหลีใต้ในการจัดการศึกษาวิชาชีพทวิวุฒิร่วมกัน  เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้มีโครงการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาแรงงานใหม่และยกระดับฝีมือลูกจ้างร่วมกับสถานประกอบการ เช่น บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โรงแรมในเครือเซ็นทารา หรือบริษัทสยามไดกิ้น เป็นต้น เพื่อให้มีฝีมือรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปและซับซ้อนมากขึ้น

office

(3) การติดตามการบังคับใช้กฎระเบียบและพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม การปรับแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และกฎระเบียบ มีสาระสำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2560 มีการปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีความทันสมัย ครอบคลุม และเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเพิ่มอัตราโทษในความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก เพื่อให้เกิดการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับแก้ในส่วนของการให้นายจ้างประกาศระเบียบการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไว้ ณ สถานประกอบการ และการปรับแก้กฎกระทรวงในส่วนการเพิ่มวงเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลของนายจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างรักษาตัวในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองลูกจ้างให้สูงขึ้นและลดระดับ ความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐตามนโยบายของรัฐบาล