คลังยอมรับกักตุนสินค้าดักภาษีใหม่

03 ก.ย. 2560 | 09:30 น.
“วิสุทธิ์” รับผู้ประกอบการกักตุนสินค้า หวังฟันกำไรก่อนภาษีสรรพสามิตใหม่บังคับใช้ 16 กันยายนนี้ ยันงัดกฎหมายเชือดผู้ค้าหัวหมอแจ้งราคาเท็จ

กรมสรรพสามิต จัดสัมมนา “ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไร ภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่” เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการให้ความรู้และเตรียมรับมือพ.ร.บ.สรรพสามิตใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 16 กันยายน 2560
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเสนอพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ในส่วนของสุรา และ ยาสูบ และประกาศกระทรวงการคลัง และกรมสรรพสามิต ที่เกี่ยวข้องอีก 61 ฉบับต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือนนี้ คาดว่าจะเป็นวันที่ 5 กันยายน หรือ 12 กันยายน ที่อาจจะมีผลทำให้เกิดการกักตุนสินค้าบ้าง

ภาษีสรรพสามิตใหม่ที่เปลี่ยนรูปแบบจากราคาขายส่ง หรือราคาหน้าโรงงาน มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ การจัดเก็บภาษีสุรา และ ยาสูบ จะจัดเก็บทั้งปริมาณและราคา เช่นเดียวกับภาษีนํ้าหวาน โดยผู้นำเข้าและผู้ผลิตจะต้องแจ้งราคา และกรมสรรพสามิตจะตรวจสอบจากข้อมูลที่มีอยู่ ในกรณีที่แตกต่างผู้ประกอบการต้องอธิบายได้ ส่วนที่อธิบายไม่ได้จะมีกระบวนการกฎหมายมาดำเนินการ

ขณะที่นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การจัดสัมมนา เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจพระราชบัญญัติสรรพสามิตฉบับใหม่มากขึ้น และกรมสรรพสามิตจะยังจัดการเสวนาทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งต่อไปจะจัดในวันที่ 7 กันยายนนี้

[caption id="attachment_131685" align="aligncenter" width="503"] สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต[/caption]

กรมสรรพสามิต มูลนิธิพระแก้วมรกตจำลอง ร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สปริงนิวส์ทีวีช่อง 19 และสปริงเรดิโอ 98.5 เมกะเฮิรตซ์ จัดงานสัมมนา “ภาษีสรรพสามิตใหม่ ใครได้ ใครเสีย” ในวันที่ 7 กันยายน 2560 โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ

นายสมชาย กล่าวว่า กฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบกฎหมายภาษีสรรพสามิต และแนวทางการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส เป็นสากล ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้กฎหมายภาษีสรรพสามิตสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารการจัดเก็บภาษีได้ทั้งระบบ และทำให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้จะมีการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ เช่นภาษีจากค่าความหวาน จากเดิมไม่มีการจัดเก็บ โดยอัตราการจัดเก็บในกลุ่มค่าความหวาน จะแบ่งเป็น 6 ระดับ

ประกอบด้วย ค่าความหวาน 0-6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรไม่เสียภาษี ค่าความหวาน 6-8 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 10 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 8-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร ค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรขึ้นไป เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว