DSIโชว์ผลงาน ปราบ! ลักลอบนำเข้ารถหรู ทำรัฐสูญ4.3พันล้าน

18 ส.ค. 2560 | 05:44 น.
DSI แถลงความคืบหน้าการออกหมายเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหา กรณีลักลอบนำเข้าและหลีกเลี่ยงการชำระภาษีศุลกากร ทำรัฐเสียหายกว่า 4,300 ล้านบาท

วันนี้ (18 ส.ค. 60) - กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ปราบปรามขบวนการนำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร และสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง รวมทั้งขบวนการทำรถจดประกอบผิดกฎหมาย อย่างต่อเนื่อง โดยมีการบูรณาการกับกรมศุลกากรโดยนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นที่สนใจของสาธารณชน ซึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ DSI เข้าทำการตรวจค้นตามหมายค้นศาลอาญาเมื่อวันที่ 18 และ 24 พฤษภาคม 2560 และสามารถอายัดรถยนต์สมรรถนะสูง (SUPER CAR) ไว้เพื่อตรวจสอบจำนวน 160 คัน

โดยเป็นรถยนต์หลายยี่ห้อ อาทิ ลัมโบร์กินี, โรสลอยด์, แมคคาเรน, โลตัส เป็นต้น รวมทั้งมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในการประสานข้อมูลกับทางการประเทศต้นทางของรถยนต์เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับราคาซื้อขายที่แท้จริงเพื่อประกอบการสืบสวนสอบสวน และขอให้กรมศุลกากรประเมินราคารถยนต์เบื้องต้น ตามเอกสารหลักฐานของ DSI ซึ่งกรมศุลกากรได้จัดส่งข้อมูลบัญชีรายละเอียดภาษีอากรขาดกลับมายัง DSI แล้ว จำนวน 32 คัน พบว่ามีมูลค่าภาษีอากรขาดรวมประมาณ 673 ล้านบาท และพนักงานสอบสวน DSI ได้เรียกกลุ่มผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาแล้วจำนวน 3 กลุ่มบริษัท ผู้ต้องหารวมจำนวน 16 คน ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินการมาเป็นลำดับแล้ว นั้น

ต่อมา กรมศุลกากรได้จัดส่งข้อมูลบัญชีรายละเอียดภาษีอากรขาดกลับมายัง DSI เพิ่มเติมจำนวน 91 คัน พบว่ามีมูลค่าภาษีอากรขาด รวมประมาณ 1,165 ล้านบาท รวมมูลค่าภาษีอากรขาดทั้งสิ้น 1,838 ล้านบาท พนักงานสอบสวน DSI อยู่ระหว่างดำเนินการเรียกกลุ่มผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาจำนวน 2 กลุ่มบริษัท ผู้ต้องหารวมจำนวน 16 คน ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป

ล่าสุด กรมศุลกากรได้จัดส่งข้อมูลบัญชีรายละเอียดภาษีอากรขาดกลับมายัง DSI เพิ่มเติมอีกจำนวน 136 คัน พบว่ามีมูลค่าภาษีอากรขาดรวมประมาณ 2,473 ล้านบาท รวมจำนวนรถยนต์ที่ทางกรมศุลกากรได้จัดส่งข้อมูลบัญชีรายละเอียดภาษีอากรขาดกลับมายัง DSI ทั้งสิ้น 259 คัน คิดเป็นมูลค่าภาษีอากรขาดทั้งสิ้น 4,313 ล้านบาท

กรณีข้างต้น เป็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมตามนโยบายของอธิบดี DSI ที่มีนโยบายให้ดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามกลุ่มขบวนการกระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรและหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ