ติดอาวุธเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า..ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

17 ส.ค. 2560 | 23:10 น.
[caption id="attachment_196237" align="aligncenter" width="503"] Controler of robotic hand, industry 4.0 concept Controler of robotic hand, industry 4.0 concept[/caption]

Highlight

ปัจจุบันอุปกรณ์ประหยัดพลังงานได้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับอุปกรณ์ดังกล่าวเริ่มเข้ามามีบทบาทและเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) ในอาคารและโรงงาน ซึ่งสามารถที่จะดึงข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์หาปริมาณการใช้พลังงานของอาคาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สูงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้บริโภคมาใช้ร่วมกับระบบ EMS อีกด้วย

อีไอซีมองว่าธุรกิจจัดการพลังงาน (Energy Service Company: ESCO) ที่สามารถช่วยลูกค้าลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอีกในระยะต่อไป แต่การพัฒนาระบบเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละตลาดให้ตรงจุดเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการ ESCO ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากลักษณะการประกอบธุรกิจของแต่ละตลาดจะแตกต่างกัน อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะหนุนให้ธุรกิจเติบโตขึ้นดีได้ในอนาคต

Implication

อีไอซีแนะผู้ประกอบการทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมควรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของกิจการ เพื่อลดต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบ Lighting HVAC และ Water heating ด้วยการนำระบบ EMS เข้ามาประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคาร/โรงงานใหม่ก็ควรที่จะออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงาน เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งในทั้ง 2 กรณีดังกล่าว การมองหา ESCO ที่มีความเชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาด้านระบบก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับกิจการอย่างยั่งยืน

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ ESCO ควรศึกษาความต้องการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้ออกแบบระบบให้สามารถตอบโจทย์ได้ตรงจุด ทั้งนี้ กลุ่มอาคารพาณิชย์ สำนักงาน และโรงงาน เป็นตลาดกลุ่มแรกที่น่าสนใจ เนื่องจากมีสัดส่วนต้นทุนการใช้ไฟฟ้าสูงถึงราว 10-20% ซึ่งรูปแบบการเข้าไปเจาะตลาดของแต่ละกลุ่มก็จะแตกต่างกันไป โดยอาคารพาณิชย์และสำนักงานควรที่จะนำระบบ EMS ที่มีประสิทธิภาพเข้าไปจับ เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าของอาคารในภาพรวมลง ในขณะที่การเข้าไปลด peak power demand ของโรงงานอาจจะเหมาะสมกว่า ทั้งนี้ สำหรับตลาดที่สัดส่วนต้นทุนการใช้ไฟฟ้ารองลงมาอยู่ที่ราว 5-10% อย่างธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง โรงแรม และโรงพยาบาล ก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เนื่องจากลักษณะของธุรกิจของลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างที่จะเฉพาะตัว และยังสามารถสร้างโอกาสจากการขยายสาขาของลูกค้าอีกด้วย เช่น การเข้าไปจับธุรกิจโรงพยาบาล ระบบจะต้องมีความน่าเชื่อถือ (reliability) ที่สูงกว่าธุรกิจกลุ่มอื่น แต่อาจจะต้องเจอความท้าทายในเรื่องของอุปกรณ์ที่ราคาแพง ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่อ่อนไหว (sensitive) ซึ่งหากผู้ประกอบการ ESCO สามารถเจาะตลาดนี้ได้ ก็จะสามารถสร้างความเชี่ยวชาญให้กับระบบของตนเองได้ (specialization) ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่งที่มีสาขาจำนวนมากและมีการใช้ระบบ EMS ที่คล้ายคลึงกัน ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ ESCO สามารถที่จะขยายฐานของระบบ (scale up) ตามการขยายสาขาของธุรกิจได้ รวมถึงสามารถที่จะเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์และปรับปรุงระบบได้ดียิ่งขึ้นในระยะต่อไป

ผู้เขียน: ธีระยุทธ ไทยธุระไพศาล

Economic Intelligence Center (EIC)

ธนาคารไทยพาณิชย์