จ่อลอยแพเหมืองแร่ 40 รายหลังกฎหมายฉบับใหม่บังคับ

17 ส.ค. 2560 | 12:15 น.
กพร. ชี้แจงการพิจารณาคำขออาชญาบัตร และประทานบัตร ที่คงค้างจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ใหม่ทันที  หากไม่สามารถพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จทันภายในวันที่ 28 ส.ค.นี้ ไม่สามารถผ่อนปรนได้

[caption id="attachment_196011" align="aligncenter" width="503"] นายวิษณุ ทับเที่ยง นายวิษณุ ทับเที่ยง[/caption]

นายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงว่า ปัจจุบันกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ยังคงดำเนินการคำขออาชญาบัตร ประทานบัตร ต่ออายุประทานบัตร และใบอนุญาตต่าง ๆ ตามขั้นตอนปกติ เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการตรวจสอบข้อมูลด้านต่างๆ อาทิ คุณสมบัติของผู้ขอ ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ มาตรการและกองทุนต่างๆ ที่จะนำไปพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนดูแลสุขภาพประชาชน เมื่อเอกสารหลักฐานต่างๆ ถูกต้อง ครบถ้วน จึงประมวลเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติแร่ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ จากนั้นจึงนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาต่อไป

ปัจจุบันมีผู้ยื่นคำขออาชญาบัตร ประทานบัตรทำเหมืองแร่ และต่ออายุใบอนุญาต ที่ยังค้างอยู่ในความรับผิดชอบ จำนวน 40 ราย ซึ่งหากไม่สามารถพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จทันภายในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ ก็จะดำเนินการคำขอทั้งหมดเข้าอยู่ภายใต้บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2560 ทันที

ทั้งนี้ จะไม่มีการเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาผ่อนปรนใดๆ สำหรับผู้ประกอบการ ที่ได้รับอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ก่อนวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน ซึ่งการเป็นผู้ถืออาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่

ส่วนกรณีเหมืองแร่ทองคำ กพร. ยังคงดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุขและผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นคณะกรรมการ ดังนั้น การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำจะเป็นไปตามมติของ คนร.

5b8d0df8-92c4-41d1-a1ed-37b60ec1b100 ส่วนกรณีการตรวจพิสูจน์บ่อเก็บกากแร่รั่วหรือไม่ โดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่นภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ทำการวิจัยได้ส่งรายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว แต่คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ยังมีประเด็นต้องการสอบถามในรายละเอียด จึงจะได้มีการเชิญผู้ทำการวิจัยมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้