บีโอไอแนะธุรกิจไทยขยายการลงทุนในอาเซียน

17 ส.ค. 2560 | 04:58 น.
บีโอไอแนะธุรกิจไทยรุกลงทุนในอาเซียนชี้มีอัตราเติบโตสูง สร้างโอกาสทางธุรกิจ ด้านทีดีอาร์ไอเน้นศึกษาตลาดและกฎหมายก่อนลงทุนจริงเพื่อลดความเสี่ยง

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยภายในงานสัมมนา “Thailand Overseas Investment Forum 2017” ซึ่งบีโอไอร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดขึ้น ว่า เพื่อให้บรรลุนโยบายประเทศไทย 4.0 รัฐบาลจึงยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมและการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดอาเซียน เหตุผลสำคัญที่ต้องมุ่งไปสู่ตลาดอาเซียนนั้น เนื่องจากค่าแรงของไทยอยู่ระดับสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะเดียวกันประเทศในอาเซียนมีอัตราการเติบโตสูงทำให้มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งการลงทุนของไทยในอาเซียน จะนำผู้ประกอบการไทยไปสู่โอกาส 3 ด้านได้แก่ 1. โอกาสที่ธุรกิจไทยไปตั้งฐานการผลิต เพื่อแก้ปัญหาที่อุตสาหกรรมไทยมีอยู่ ทั้งด้านแรงงาน วัตถุดิบ และพลังงาน 2. โอกาสให้ธุรกิจไทยรุกเข้าถึงตลาดอาเซียนที่จะรวมกันเป็นตลาดเดียวในอนาคตซึ่งจะช่วยต่อยอดให้สินค้าไทยไปสู่ระดับอาเซียน และ 3. โอกาสก้าวไปสู่ระดับภูมิภาค จากการที่อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของการรวมกลุ่มระดับภูมิภาค เช่น ความตกลงทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ธุรกิจไทยก็จะได้รับประโยชน์จากอาเซียนในอนาคตได้อีก

20170816100818-503x333

“ในช่วงที่ผ่านมา บีโอไอเปิดอบรมหลักสูตร “สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ” มาแล้ว 11 รุ่น มีนักลงทุนผ่านการอบรมกว่า 400 ราย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 89 รายไปลงทุนในต่างประเทศแล้ว” และสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้นำนักลงทุนไทยรุ่น 12 และ 13 อีก 70 ราย เดินทางไปศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุนในลาวและเวียดนาม” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ทั้งนี้ภายในงานสัมมนา นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้นำเสนอผลการศึกษา “โอกาสการลงทุนของไทยในอาเซียน” ระบุว่า ผู้ประกอบการ ที่ต้องการไปลงทุนในอาเซียน ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนระยะยาว เพื่อให้เข้าใจตลาดท้องถิ่นดีพอ ขณะเดียวกันธุรกิจควรมีสายป่านที่ยาว และมีบริษัทแม่ที่ขายในไทยอยู่ก่อนแล้วเพื่อลดความเสี่ยงเนื่องจากกฎหมายของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงบ่อย สิ่งสำคัญควรศึกษาตลาดของแต่ละประเทศที่จะไปลงทุนให้ดีเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในการยอมรับสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกัน

ตัวอย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซียนั้น จากการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลพบว่า ผู้ประกอบการไทยควรเข้าไปลงทุนเพื่อขายสินค้าในประเทศไม่ใช่เพื่อการส่งออกสินค้า เพราะตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่และกำลังขยายตัวโดยเฉพาะในเกาะชวา อินโดนีเซียมีช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ดี สามารถใช้ผู้แทนจำหน่ายในการช่วยกระจายสินค้าได้ กิจกรรมส่งเสริมการขายและทำการตลาด ควรใช้ช่องทางของสื่อโทรทัศน์เป็นหลัก สินค้าที่มีโอกาสเข้าไปลงทุนคือ ชิ้นส่วนยานยนต์

Thumbnail-BOI

ส่วนเวียดนาม แบ่งออกเป็น 3 เขต (เหนือ กลาง ใต้ ) พบว่ามีการแข่งขันสูงในเวียดนามใต้ ผู้บริโภคเปลี่ยนแบรนด์สินค้าง่าย แต่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด ขณะที่เวียดนามตอนกลางการแข่งขันยังไม่สูงมาก และมีตลาดขนาดใหญ่เนื่องจากชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น การเข้าไปลงทุน ควรมีพนักงานท้องถิ่นที่มีความสามารถในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นเนื่องจากกฎระเบียบเปลี่ยนแปลงบ่อย

เมียนมา เป็นประเทศที่นักลงทุนหลายชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนเพราะมีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และเปิดเสรีมากขึ้น ปัจจุบันมีนักลงทุนมาก จึงมีความเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ประกอบการที่จะเข้าไปลงทุนในเมียนมา ควรหาพันธมิตรทางการค้า โดยมุ่งไปที่ชนชั้นกลางในเมืองใหญ่