วงเงินค้ำประกัน บสย. 8.1 หมื่นล้าน เริ่มปล่อย 11 ส.ค.นี้

10 ส.ค. 2560 | 11:15 น.
 

รมว.อุตฯเผยความคืบหน้าวงเงินค้ำประกัน บสย. 8.1 หมื่นล้านเริ่มปล่อย 11 สิงหาคมนี้  คาดเอสเอ็มอีได้สินเชื่อเพิ่ม 2.7 หมื่นราย  เกิดสินเชื่อในสถาบันการเงิน 1.36 แสนล้านบาท  พร้อมมีการจ้างงานเพิ่ม 1.08 แสนคน  เชื่อสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ 3.71 แสนล้านบาท

[caption id="attachment_192877" align="aligncenter" width="503"] นายอุตตม  สวนายน นายอุตตม สวนายน[/caption]

นายอุตตม  สวนายน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้หารือร่วมกับหน่วยงานเศรษฐกิจพร้อมด้วยสถาบันการเงิน อาทิ  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารรัฐและเอกชน  เพื่อร่วมมือกันสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างรวดเร็วและจำนวนที่มากขึ้น  โดยได้มีมาตรการใหม่  ได้แก่ การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ในวงเงินค้ำประกัน 81,000 ล้านบาท ที่จะรับผิดชอบภาระให้ผู้ประกอบการสูงสุดถึง 30% และพร้อมเปิดอนุมัติให้ความช่วยเหลือในวันที่ 11 สิงหาคม 2560

ทั้งนี้  รัฐบาลจะรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 4 ปีแรก ด้วยอัตราร้อยละ 1.75 ร้อยละ 1.25 ร้อยละ 0.75 และร้อยละ 0.25 ตามลำดับ และให้สถาบันการเงินร่วมชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีที่ 2 ถึง 4 ในส่วนที่เหลือ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่มีภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมใน 4 ปีแรก พร้อมทั้งเพิ่มความรับผิดชอบการจ่ายค่าประกันชดเชยจากเดิมที่สูงสุดไม่เกินร้อยละ 23.75 เป็นสูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ย ณ วันสิ้นอายุการค้ำประกัน และอนุมัติงบประมาณชดเชยเพิ่มเติมไม่เกิน 8,302.50 ล้านบาท

“จากมาตรการดังกล่านี้คาดว่าจะช่วยให้เอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อเพิ่มประมาณ 27,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในสถาบันการเงินประมาณ 136,000 ล้านบาท หรือ 1.68 เท่า เกิดการจ้างงานเพิ่มประมาณ 108,000 คน หรือ 4 คน/ราย พร้อมทั้งสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีก 371,000 ล้านบาท”

อย่างไรก็ดี  ยังมีสินเชื่อเอสเอ็มอีด้านอุตสาหกรรม  ธุรกิจ  และบริการที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว  เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมทั้งยกระดับผู้ประกอบการในชุมชน ในการปรับปรุงการดำเนินงานและเสริมสภาพคล่องในการต่อยอดกิจการ ด้วยการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ในวงเงินสินเชื่อ 7,500 ล้านบาท สำหรับบุคคลธรรมดาวงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท นิติบุคคลวงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ในระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี สำหรับวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทแรก ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารถใช้ บสย.ช่วยค้ำประกันได้ ตลอดจนรองรับโครงการสินเชื่อ Factoring ที่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ทางการค้าต่างๆ ทั้งนี้การพิจารณาสินเชื่อจะครอบคลุมการให้สินเชื่อทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ที่จะสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งระบบ โดยถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบาย Local Economy ของรัฐบาลในจังหวัดต่างๆ ตลอดจนการยกระดับเป็นชุมชนและสินค้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 4.0

IMG_2738

สำหรับความคืบหน้ามาตรการทางการเงินภายใต้กองทุนประชารัฐ 38,000 ล้านบาท ที่รวมแล้วขณะนี้มีผู้ประกอบการให้ความสนใจในการขออนุมัติวงเงินกว่า 18,777 ราย ได้รับการอนุมัติแล้วทั้งสิ้นกว่า 3,413 ราย ประกอบด้วย กองทุนพลิกฟื้นกิจการวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท ที่ให้เอสเอ็มอีกู้ยืมไปใช้ในการพลิกฟื้นกิจการรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 329 ราย เป็นวงเงิน 284 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมวงเงิน 2,000 ล้านบาท  โดย สสว. ที่ให้เงินอุดหนุนร่วมลงทุนแก่เอสเอ็มอีรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท  ได้รับการอนุมัติเงินอุดหนุนแล้ว 589 ราย เป็นวงเงิน 293.19 ล้านบาท  ซึ่งทั้ง 2 กองทุนวงเงินรวม 3,000 ล้านบาทนี้ของ สสว. คาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  และรายย่อยได้อย่างน้อย 5,000 ราย ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างแท้จริง

นายอุตตม กล่าวต่อไปอีกว่า  ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการวงเงินสินเชื่อสูงขึ้น รัฐบาลยังมีโครงการและสินเชื่อจากกองทุนเพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นๆได้แก่ สินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดย SME Development Bank เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ขยาย ปรับปรุงกิจการ อัตราดอกเบี้ย 3% ขณะนี้มีผู้ยื่นคำขอกู้รวมแล้ว 3,338 ราย เป็นวงเงิน 13,725.34 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 2,281 ราย เป็นวงเงิน 8,286 ล้านบาท

ขณะที่กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท  ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนเติมเต็มให้ SMEs ที่มีศักยภาพในสาขาอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์ที่แต่ละจังหวัดเป็นผู้กำหนด โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2560 ได้มีผู้ยื่นคำขอกู้รวม 2,749 ราย เป็นวงเงิน 14,013 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 214 ราย เป็นวงเงิน 696.11 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรการทางการเงินที่ภาครัฐสนับสนุนต่างๆ นั้น กระทรวงฯ และหน่วยงานได้พยายามดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงบริการและแหล่งเงินทุนได้อย่างเต็มที่เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและครบวงจรอย่างมีนัยสำคัญ

ดร.อุตตม กล่าวต่ออีกว่า นอกเหนือจากมาตรการทางการเงิน กระทรวงฯ พร้อมด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ยังมีมาตรการการพัฒนาเอสเอ็มอี  เพื่อลดปัญหาด้านการบริหารจัดการทางการเงิน  โดยจากการหารือกับสมาคมธนาคารไทย ได้เสนอแนวทางในการยกระดับมาตรการในเรื่องการบริหารจัดการทางการเงินต่อเอสเอ็มอี อาทิ การปรับนิยามของเอสเอ็มอีแบ่งตามกลุ่มประเภทธุรกิจ  และยอดขายพร้อมทั้งจัดกลุ่มตลาดเพื่อให้ความรู้ด้านการเงินที่เหมาะสม  โดยยังมีการเสนอให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพิจารณาการภาพรวมการให้ความรู้และการสนับสนุนในการเพิ่มศักยภาพของเอสเอ็มอี  การจัดทำฐานข้อมูลและเก็บข้อมูลเพื่อการจัดการ  การสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ   เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านการบริหารการเงินจากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในรูปแบบพี่ช่วยน้อง เป็นต้น

นายนิธิศ  มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า จากวงเงินค้ำประกัน 81,000 ล้านบาท  บสย. ได้มีการจัดสรรวงเงินดังกล่าวให้กับสถาบันการเงิน 18 แห่ง โดยสถาบันการเงินที่ได้รับวงเงินสูงสุด 5 แห่งจำนวนสถาบันการเงินละ 12,000 บาท ได้แก่ 1.ธนาคารกรุงเทพ  ,2.ธนาคารกรุงไทย  ,3.ธนาคารออมสิน  ,4.ธนาคารไทยพาณิชย์  และ5.ธนาคารกสิกรไทย  ขณะที่ ธพว. ได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 7,500 ล้านบาท