แนะ'แบงก์ชาติ' หั่นดอกเบี้ย สกัดเงินร้อน!

11 ส.ค. 2560 | 15:01 น.
นักเศรษฐศาสตร์แนะแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินร้อนไหลเข้าเก็งกำไร ดันค่าเงินบาทแข็ง ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศกดดันค่าเงินดอลลาร์อ่อนยาว กระทบส่งออกครึ่งปีหลังขยายตัวแค่ 3%

ค่าเงินบาทล่าสุดเคลื่อนไหว 33.28-33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าจากต้นปีประมาณ 8% แข็งค่าสุดในภูมิภาค เงินเยน ดอลลาร์ไต้หวัน แข็งค่าประมาณ 7% ขณะที่สกุลเงินของประเทศคู่แข่งขันทางการค้ายังสะท้อนทิศทางอ่อนค่า เช่น รูเปียแข็งค่า 1% เงินด่องนั้นแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินคู่แข่ง มาจากหลายปัจจัย ประการแรก การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯจะออกมาดีปลายสัปดาห์ก่อน แต่อัตราเงินเฟ้อไม่สะท้อนการขยับเพิ่ม

[caption id="attachment_50327" align="aligncenter" width="357"] เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชาว์ เก่งชน
กรรมการผู้จัดการ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย[/caption]

ปัจจัยต่อมาแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ไม่เร่งพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัจจัยการเมืองภายในสหรัฐฯยังเป็นตัวถ่วง และสุดท้ายปลายสัปดาห์นี้ ตลาดรอการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต
“ระหว่างรอประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯปลายสัปดาห์ เงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งนักลงทุนและผู้ทำการค้าควรต้องปิดความเสี่ยงเผื่อไว้เพราะความผันผวนยังเยอะ”

สำหรับกระแสเงินทุนไหลเข้ายังคงมีต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มการส่งออกช่วงที่เหลือเชื่อว่าจะขยายตัวลดลงจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวเกือบ 8% ซึ่งการส่งออกครึ่งหลังน่าจะปรับลดลงมาเหลือ 2-3% แต่ทั้งปีเฉลี่ยใกล้เป้าหมาย 5% ของกระทรวงพาณิชย์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ระยะข้างหน้าตลาดจับตากิจกรรมหลักในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ประกอบด้วย 1.ตลาดปรับมุมมองเฟดไม่น่าจะปรับขึ้นอัตราในปีนี้ โดยที่ทางกรุงไทยยังคาดโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ 1 ครั้ง

[caption id="attachment_118065" align="aligncenter" width="416"] จิติพล พฤกษาเมธานันท์ จิติพล พฤกษาเมธานันท์[/caption]

2.ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีทิศทางแข็งแกร่ง ขณะที่อัตราการจ้างงานยังเติบโตต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับดี ถ้าไม่มีปัญหาการเมืองภายในน่าจะเห็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯขยับได้

ด้านทิศทางเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องโดยสิ้นปีเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยได้รับแรงหนุนจากรัฐบาลเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เหล่านี้ยังเป็นปัจจัยบวกดึงเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง

“ปัจจุบันเงินทุนไหลเข้าถือเป็นเงินร้อนที่ไม่มีการป้องกัน ซึ่งแนวโน้มเงินทุนยังคงไหลเข้าเรื่อยๆส่วนใหญ่เข้ามาในตลาดตราสารหนี้ ถ้าแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายสัก 0.25% ก็จะช่วยลดเงินร้อนได้ระดับหนึ่ง”

[caption id="attachment_157124" align="aligncenter" width="500"] นายอมรเทพ จาวะลา นายอมรเทพ จาวะลา[/caption]

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความเสี่ยงในช่วงที่เหลือของปีนี้ของตลาดเงินและตลาดทุน จะมาจากปัจจัยจากต่างประเทศเป็นหลัก เช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน หรือโดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศต่างๆ และนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ค่อนข้างจะสร้างความผันผวนให้ตลาดโลก ซึ่งจะกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า

ดังนั้นโอกาสที่ค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ามีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่ามีโอกาสเห็นไปแตะที่ระดับ 32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในเดือนกันยายนนี้ได้ ถือว่าเป็นระดับแข็งค่าสุดของปีนี้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2560