‘ขายตรง’วูบติดหล่ม พิษกำลังซื้อ-เศรษฐกิจรุมเร้าถอดใจเร่ขาย-เลิกกิจการ

10 ส.ค. 2560 | 23:33 น.
ธุรกิจขายตรงเหนื่อย! ปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อรุมเร้าหนัก พบบางรายเดินเร่ขายบริษัท พบ 10 เดือนผู้ประกอบการถอดใจยกเลิกธุรกิจ 50 ราย ถูกเพิกถอนจากสคบ. 168 ราย ขณะที่ส.พัฒนาการขายตรงไทย ประเมินสถานการณ์ตลาดโตได้เต็มที่แค่ 5% จากยอดส่งงบการเงินกว่า 3 หมื่นล้าน

ในอดีตภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและกำลังซื้อที่ลดลงมักจะส่งผลดีต่อธุรกิจขายตรง เพราะคนจะมองหาโอกาสเพิ่มรายได้และอาชีพเสริม ส่งผลให้อุตสาหกรรมขายตรงจะเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าธุรกิจขายตรง ไม่สามารถฝ่าปัจจัยลบดังกล่าวเหมือน เช่นในอดีต และคาดว่าปีนี้ธุรกิจขายตรงจะเติบโตได้ดีเต็มที่แค่ 5% จากปกติที่จะเติบโตกว่าธุรกิจค้าปลีกซึ่งมีการเติบโต 2.5-3%

อย่างไรก็ตาม การประเมินอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมขายตรงดังกล่าว เป็นการมองในเชิงบวกและเป็นผลจากการที่ยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ เข้ามาทำธุรกิจขายตรงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีบางบริษัทที่ปิดตัวลงก็ตาม ประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงรุกตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 มีผู้ประกอบการเข้ามาขอจดทะเบียนรับใบอนุญาตเพื่อดำเนินธุรกิจขายตรงกว่า 100 บริษัท และสคบ. ได้พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินธุรกิจไปแล้ว 39 ราย ซึ่งจำนวนที่เหลืออยู่ระหว่างการยื่นเอกสารเพิ่มเติม การแก้ไขแผนธุรกิจ และการแก้ไขเอกสารให้ถูกต้อง ขณะที่มีบางส่วนที่ไม่ติดต่อกลับมายังสคบ. ส่วนผู้ประกอบการที่ยื่นขอประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง และได้รับใบ อนุญาตแล้วมีจำนวน 68 ราย

นายณัชภัทร ขาวแก้ว นิติกรชำนาญการ สคบ. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปริมาณการจดทะเบียนใหม่ของธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงถือว่ายังมีอัตราการจดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันระยะเวลาการออกใบอนุญาต ตามกระบวนการจะประมาณ 68 วัน แต่หากเอกสารครบถ้วนและไม่มีการแก้ไขจะใช้ระยะเวลา 45 วัน นอกจากการขอ จดทะเบียนดำเนินธุรกิจใหม่แล้ว ยังพบว่ามีบริษัทดำเนินธุรกิจขายตรง 232 ราย ที่เข้ามาขอเปลี่ยน แปลงรายละเอียดในการดำเนินธุรกิจต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนกรรมการ การเปลี่ยนที่อยู่ การปรับเปลี่ยนแผนการตลาด เป็นต้น

“ปัจจุบันพนักงานของสคบ. ที่รับเรื่องการแก้ไขรายละเอียดบริษัท มีเดือนละกว่า 120 เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน ที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแผนการตลาด การจ่ายผลประโยชน์ การย้ายที่อยู่ รวมถึงการขายใบอนุญาตการประกอบธุรกิจขายตรงให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ก็เป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่เข้ามายื่นแก้ไขกับสคบ. ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้ประกอบการเดิมทำธุรกิจต่อไปไม่ไหวก็เลยต้องเปลี่ยนเจ้าของ”

นอกจากการแก้ไขในการดำเนินธุรกิจแล้ว สคบ.ยังได้ทำการยกเลิกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจขายตรงไป 168 รายด้วยสาเหตุต่างๆ อาทิ ดำเนินธุรกิจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ การไม่ดำเนินธุรกิจตามแผนการตลาดที่ได้จดทะเบียนไว้ เป็นต้น แต่ประเด็นสำคัญที่ถูกยกเลิกและเพิกถอน มีด้วย 4 ประเด็น ได้แก่ ธุรกิจล้มละลาย ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ชำระบัญชีเพราะบริษัทปิดกิจการ และสถานะร้าง นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ประกอบการที่เข้ามาขอยกเลิกการประกอบธุรกิจเองด้วยจำนวน 50 ราย ซึ่งสาเหตุหลักจะมาจากไม่มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ ไม่เข้าใจในระบบธุรกิจขายตรง เปลี่ยนใจไม่ดำเนินธุรกิจขายตรง แต่ไปดำเนินธุรกิจประเภทอื่นแทน เช่น เปลี่ยนไปขายปลีกทั่วไป เป็นต้น

ด้านนายสมชาย หัชลีฬหา นายกสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย หรือ TSDA (Thai Direct Selling Development Association) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีบริษัทขายตรงที่ส่งงบการเงินให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ 815 ราย ลดลงจากปี 2558 ที่มีอยู่ 1,002 บริษัท ซึ่งไม่รู้ว่าจำนวนที่ไม่ส่งงบการเงินเป็นเพราะยุติดำเนินธุรกิจหรือไม่จัดส่งงบการเงิน ธุรกิจขายตรงยังมองว่าเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ จึงทำให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเพิ่มตลอดเวลา ขณะเดียวกันผู้เล่นรายเดิมก็หายออกจากธุรกิจด้วยเช่นกัน

MP40-3285-A สำหรับมูลค่าธุรกิจขายตรงจากงบการเงินคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่วนที่ไม่ได้จัดส่งงบการเงินน่าจะมีมูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ทำให้ประเมินว่าทั้งระบบของอุตสาหกรรมขายตรง น่าจะมีมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ดูจากผลการดำเนินงานของสมาชิกในสมาคม ผลประกอบการยังอยู่ในภาวะทรงตัว ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และภัยนํ้าท่วมที่ทำให้ภาคการเกษตรมีปัญหา โดยประเมินทั้งปีคาดว่าธุรกิจขายตรงจะเติบโตได้ไม่เกิน 5% จากปัจจัยที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ทำตลาดอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาด ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่ามีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาด 40 ราย

“ในสมาชิกสมาคมยอดขายช่วงครึ่งปีแรกยังคงทรงตัว คาดว่ายอดขายรวมทั้งปีอาจจะไม่เติบโตขึ้น หรืออาจจะดีขึ้นเล็กน้อย เพราะกลุ่มเกษตรกรยังมีปัญหาราคาสินค้าเกษตร ปัญหานํ้าท่วม เห็นได้จากธุรกิจค้าปลีกก็ยังทรงตัว แต่ยังคงมีโอกาสเติบโตได้จากผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามากระตุ้นตลาด แม้ว่าจะมีบางบริษัทที่ไม่สามารถแข่งขันได้ก็อาจจะหายไปจากธุรกิจ ทำให้ตลาดไม่ได้เติบโตหวือหวา”

ขณะที่แหล่งข่าวจากผู้ดำเนินธุรกิจขายตรงรายใหญ่ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้รับข้อเสนอจากผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงบางแห่ง ที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ มาเสนอขายธุรกิจที่ดำเนินอยู่ให้กับบริษัท เนื่องจากประสบปัญหาด้านสภาพคล่องการเงิน ขาดประสบการณ์ในธุรกิจ ขายตรง ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสินค้าที่ดีและมีนักธุรกิจขายตรงอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการ 2-3 รายที่จะขายบริษัทให้ แสดงให้เห็นว่าธุรกิจขายตรงมีคนจำนวนมากที่อยากเข้ามาทำตลาด แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีประสบ การณ์ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ก็มีมากเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2560