แบงก์ลุยปล่อยกู้ SMEs เด้งรับครม.เพิ่มคํ้า-หั่นต๋ง มั่นใจ 8 หมื่นล้านเกลี้ยง

07 ส.ค. 2560 | 23:57 น.
แบงก์กลับลำลุยปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี เด้งรับมติคณะรัฐมนตรีเพิ่มคํ้าประกัน-ลดค่าธรรมเนียม 1.75% บสย.นัด 18 แบงก์รัฐ-เอกชน เซ็นเอ็มโอยู 15 ส.ค.นี้ จับมือล้างพอร์ตพีจีเอส 6 กว่า 8 หมื่นล้านบาท คาดธนาคารหั่นดอกเบี้ยช่วยอีกแรง

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 มีมติผ่อนปรนเงื่อนไขโครงการคํ้าประกัน PGS6 ในวงเงินที่เหลือ 8.1 หมื่นล้านบาทจากทั้งหมด 1 แสนล้านบาท โดยเพิ่มการคํ้าประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จาก 23.75% เป็น 30% และลดอัตราค่าธรรมเนียมคํ้าประกัน 1.75% เป็นระยะเวลา 4 ปี เพื่อช่วยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การลดอัตราค่าธรรมเนียมคํ้าประกัน 1.75% เป็นระยะเวลา 4 ปี คิดเป็นอัตราค่าธรรมเนียมที่ลดลง 7% แบ่งเป็นภาครัฐช่วยเหลือ 4% และธนาคารอีก 3%

[caption id="attachment_191076" align="aligncenter" width="400"] วิเชษฐ วรกุล วิเชษฐ วรกุล[/caption]

อัตราค่าธรรมเนียมที่ยกเว้น 1.75% ระยะเวลา 4 ปี แบ่งเป็นปีแรก ค่าธรรมเนียม 1.75% ภาครัฐจะออกให้ทั้งหมด ปีที่ 2 บสย.ออกค่าธรรมเนียม 1.25% ที่เหลือจะเป็นธนาคาร ส่วนปีที่ 3 ลูกค้าออกเองจำนวน 1% ที่เหลือ 0.75% ภาครัฐออก และปีที่ 4 ลูกค้าออกเอง 0.25% ที่เหลือ 1.50% ภาครัฐจะเป็นคนออก

อย่างไรก็ตามค่าธรรมเนียมในส่วนที่ลูกค้าออกนั้น ธนาคารเป็นผู้รับผิดชอบแทน แต่จะช่วยในรูปแบบใดเช่น ลดดอกเบี้ย หรือรูปแบบอื่นกำลังหารือเพื่อหาแนวทางอยู่ แต่มาตรการนี้จะรีบเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

หลังจากนี้บสย.จะมีการประชุมร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในรูปแบบต่างๆ คาดว่าไม่เกินวันที่ 15 สิงหาคม 2560 จะเซ็นสัญญาความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) รวม 18แห่ง เพื่อหาแนวทางและรูปแบบการช่วยเหลือ บนหลักการและเงื่อนไขตามมติครม.

แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มติครม.ที่ให้บสย. เพิ่มการคํ้าประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี จะทำให้สถาบันการเงินหันมาปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้น จากเดิมที่ชะลอการปล่อยสินเชื่อ อาจจะหันมาบุกสินเชื่อกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มียอดขายตํ่ากว่า 100 ล้านบาท จะเห็นธนาคารหันมาหาลูกค้าใหม่มากขึ้น เช่น จากเดิมเคยหา 100 ราย อาจจะเพิ่มเป็น 200-300 ราย เนื่องจาก มีบสย.เข้ามาช่วยคํ้าประกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

สำหรับกลยุทธ์การหาลูกค้ากลุ่มรายเล็กที่มียอดขายน้อยกว่า 100 ล้านบาทของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเงินทุน แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของหลักประกัน โดยกลุ่มที่ธนาคารมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าจะมีอยู่ 3-4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เทรดดิ้ง ค้าปลีก-ค้าส่ง เพราะเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเงิน แต่มีข้อจำกัดหลักประกัน เช่น มีโรงงานคํ้าประกัน แต่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อหมุน เวียนได้ เช่นเดียวกับกลุ่มขนส่ง-โลจิสติกส์ คลังสินค้า บริการและเกษตรที่มีข้อจำกัดเรื่องของหลักประกัน และเป็นกลุ่มที่มีลิมิตการปล่อยกู้ เนื่องจากโดยเฉลี่ยอุตสาหกรรมจะปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 10% ของพอร์ตรวม

MP28-3285-A ส่วนแผนการขยายฐานลูกค้านั้น จะเห็นว่ากลุ่มลูกค้าเหล่านี้เป็นฐานลูกค้าที่เดินบัญชีกับธนาคารอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้บริการสินเชื่อ ดังนั้นธนาคารจะรู้ประวัติลูกค้าและรู้ว่าอยู่ที่ไหน ซึ่งธนาคารจะให้ทีมงานลูกค้าสัมพันธ์ เข้าไปหาหรือติดต่อลูกค้าโดยตรง และเสนอโปรแกรมสินเชื่อตามโครงสร้างธุรกิจลูกค้า

ทั้งนี้ภายหลังจากบสย.เข้ามาช่วยคํ้าประกันมากขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงิน ของธนาคารลดลง จึงมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าได้ แต่การปรับลดคงไม่มาก เพราะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับหลักประกันและโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงความเสี่ยงของธุรกิจเป็นหลักด้วย ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) เฉลี่ยอยู่ที่ MRR- ถึง MRR+2

“หากบสย.เข้ามาช่วยคํ้า 30% ทำให้แบงก์มีต้นทุนความเสี่ยงน้อยลง แบงก์สามารถมีรูมที่จะลดดอกเบี้ยได้ และจากเดิมที่ไม่ได้บุกลูกค้ากลุ่มนี้มากนักก็จะหันมาบุกกลุ่มนี้มากขึ้น แต่การลดดอกเบี้ยนั้นจะเป็นต่างคนต่างทำ ไม่ได้มีการบังคับหรือให้ลดเท่ากัน แต่การลดก็คงไม่เยอะมาก ซึ่งอาจจะออกมาเป็นโปรแกรมดอกเบี้ยพิเศษสำหรับลูกค้าที่เข้าโครงการบสย.ส่วนแผนเราคงทำใน 3-4 กลุ่มหลักที่มีข้อจำกัด เช่น เทรดดิ้งผ่านแฟกตอริง เป็นต้น”

นายปฏิเวช สันตะวานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตอนนี้เชื่อว่าธนาคารต่างๆ กำลังพิจารณาแนวทางและรูปแบบการช่วยเหลืออยู่ภายหลังจากมีมติครม.ออกมา โดยแนวทางอาจจะช่วยลดค่าธรรมเนียมหรือจะลดอัตราดอกเบี้ยให้ ซึ่งอยู่ระหว่างหารืออยู่ ในส่วนของธนาคารกรุงไทยคงมีมาตรการที่สอดคล้องกับมติครม.ออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาแต่จะสอดคล้องกับระบบ

ก่อนหน้านี้ธนาคารได้มีโครงการ “สินเชื่อกรุงไทยช่วย SMEs 4.0” คิดอัตราดอกเบี้ยตํ่าที่ 4% ต่อปี ผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี ภายใต้วงเงิน 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยลดต้นทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ถือเป็นนโยบายสอดคล้องกับมติครม.และแนวทางประชารัฐด้วย

ดังนั้นโครงการนี้จะยังเป็นโครงการหลัก ส่วนการขยายวงเงินคํ้าประกันจาก 23.75% เป็น 30% เป็นเงื่อนไขที่ดีกับธนาคารเมื่อเทียบกับของเดิม และเชื่อว่าทุกธนาคารพยายามจะใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขที่ดีนี้โดยการขยายสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นแต่ทั้งนี้แม้ว่าบสย.จะขยายวงเงินคํ้าประกัน 30% แต่ก็เป็นความเสี่ยงภายหลังถ้าลูกค้าหรือผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ ดังนั้นเรื่องหลักที่ธนาคารต้องทำ คือ ต้องช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าสามารถเดินและดำเนินการได้ด้วยตัวเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560