ค่ายญี่ปุ่นไม่สะดุ้งภาษีใหม่ BMW ชิงปรับราคา-เพิ่มทางเลือก BSI โดนใจลูกค้าฟลีต

08 ส.ค. 2560 | 00:00 น.
ค่ายรถยนต์เริ่มขยับตัว หลังกรมสรรพสามิตเตรียมเปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีสินค้าจากราคาหน้าโรงงานไปเป็นราคาขายปลีก ซึ่งมีผลบังคับใช้ 16 กันยายนนี้ โตโยต้า มาสด้า เชื่อไม่มีผลกระทบกับราคาขาย ส่วนบีเอ็มดับเบิลยู ประกาศปรับโครงสร้างราคาใหม่ พร้อมเพิ่มทางเลือกโปรแกรม BSI ให้หลากหลาย ส่วนดีลเลอร์ “มิลเลนเนียม ออโต้” เชื่อแผนนี้จะช่วยให้ขายรถง่ายกว่าเดิม

จากนโยบายเปลี่ยนวิธีคำนวณภาษีสรรพสามิตใหม่ หลายค่ายรถยนต์ยังประเมินว่าจะไม่มีผลต่อราคาขายด้วยเชื่อว่าอัตราภาษีที่นำมาคิดใหม่จะตํ่ากว่าอัตราปัจจุบัน เนื่องจากใช้ฐานราคาที่สูง(ราคาขายปลีกที่บวกกำไรและค่าการตลาดแล้ว ย่อมสูงกว่าราคาต้นทุนหน้าโรงงานผลิต) ตัวคูณ(ภาษี)จึงต้องตํ่าลง เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาสินค้า เพราะเป้าหมายของการเปลี่ยนวิธีการคิดภาษีใหม่ หวังสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมลํ้าของผู้ผลิตแต่ละราย และช่วยลดกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนของเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอย่าง “โตโยต้า” และ “มาสด้า” ดูจะไม่กังวลกับกฎหมายใหม่ เพราะเชื่อว่ากรมสรรพสามิต ไม่อยากทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์และผู้บริโภคเดือดร้อน ที่สำคัญอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่งปรับตัวจากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่หันมาคิดตามการปล่อยไอเสียไปเมื่อปีแล้ว(1 ม.ค. 59)

“โตโยต้า สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ อย่างวิธีการคำนวณภาษีสรรพสามิตใหม่จากราคาขายปลีก ย่อมทำให้เกิดความเป็นธรรม และหวังว่าจะไม่มีผลต่อราคาขาย” นายฉัตรชัย ทวีสกุลวัชระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด กล่าว

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีสรรพสามิตใหม่ รัฐบาลเตรียมตัวมานาน ส่วนบริษัทกำลังลุ้นว่าสุดท้ายจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนมาคิดตามราคาขายปลีกแล้ว ช่องว่างของราคาขายใหม่เมื่อเทียบกับราคาเดิมจะมีไม่เยอะ แต่กระนั้นหากมีผลกระทบเกิดขึ้น บริษัทยินดีตรึงราคาขายเดิมเอาไว้

“เชื่อว่าค่ายรถที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าคือ กลุ่มที่นำเข้าและอยู่ในเขตฟรีโซน”นายธีร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศ ไทย เพิ่งประกาศปรับโครงสร้างราคาขายใหม่ทั้งรถยนต์บีเอ็ม ดับเบิลยูและ มินิ มีผลตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม 2560

mp36-3285-a โดยบีเอ็มดับเบิลยู พยายามปรับโครงสร้างราคาไม่ให้มีผลกระทบกับระบบการขาย ด้วยการใช้ BSI (BMW Services Inclusive) /MSI (MINI Service Inclusive) โปรแกรมบำรุงรักษาและการรับประกันเข้ามาเป็นเครื่องมือในการปรับสมดุลนี้ ซึ่งจะเปิดราคาขายปลีกที่แนะนำตั้งเอาไว้(เป็นราคาที่ตํ่ากว่าราคาขายในปัจจุบันมาก) จากนั้นจะให้ลูกค้าเป็นผู้เลือกแพ็กเกจ BSI ที่วางไว้ 4 แบบในจำนวนเงินตั้งแต่ 3-9หมื่นบาท(แล้วแต่รุ่น)

“ยกตัวอย่าง บีเอ็มดับเบิลยูรุ่น 330e Luxury เคยขายพร้อมโปรแกรม BSI 5 ปี ราคา 2.599 ล้านบาท แต่วันนี้ลูกค้าสามารถเลือกรับโปรแกรม BSI ระดับสแตนดาร์ด 3 ปี หรือ 60,000 กม. ซึ่งราคารถจะลดลงทันที 4 หมื่นบาท เป็น 2.559 ล้านบาท แต่ถ้าลูกค้าต้องการความคุ้มครองสูงสุด 5 ปี หรือ 100,000 กม. จ่ายเพิ่ม 3 หมื่นบาท”นายสเตฟาน ทอยเชอร์ต ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวและว่า

ทั้งนี้การปรับโครงสร้างราคาขายใหม่ เป็นการรองรับการคำนวณภาษีของกรมสรรพสามิตที่เปลี่ยนมาคิดตามราคาขายปลีกที่จะเริ่มใช้ในเดือนกันยายนนี้

สำหรับโปรแกรม BSI และ MSI จะครอบคลุม เช่น การบริการเปลี่ยนนํ้ามันเครื่อง การบริการเปลี่ยนไส้กรองอากาศภายในการบริการเปลี่ยนหัวเทียน การบริการเปลี่ยนผ้าเบรกและจานเบรก การบริการตรวจสอบรถยนต์ รวมไปถึงการซ่อมแซมและเปลี่ยนชิ้นส่วนอุปกรณ์อะไหล่แท้จากบีเอ็มดับเบิลยูและมินิ

ด้านนายสมปราชญ์ โบสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ จำกัด เมกะดีลเลอร์ของบีเอ็มดับเบิลยูและมินิเปิดเผยว่า การปรับรูปแบบและเพิ่มทางเลือกของโปรแกรม BSI บริษัทมองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดี เพราะช่วยทำราคาให้น่าสนใจมากขึ้น หรือจะเพิ่มโอกาสในการคุยกับลูกค้าและปิดการขายได้

“เรามองว่าเป็นโอกาส ด้วยส่วนต่างราคาและทางเลือกของแพกเกจบริการ ขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าฟลีตที่ใช้บริการกับบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายถูกลง เพราะบางรายต้องการบริการแค่ 3 ปี แต่โปรแกรมเดิมครอบคลุมถึง 5 ปี ทำให้เคยมองว่าแพ็กเกจ BSI เดิมไม่คุ้มสำหรับเขา” นายสมปราชญ์ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560