เปิดมุมมอง 2 บิ๊กธุรกิจเศรษฐกิจฐานรากยังไม่ฟื้น

09 ส.ค. 2560 | 08:35 น.
สํานักวิจัยหลายค่ายต่างทยอยปรับเป้าเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าจีดีพี(ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ)ปีนี้จะโตได้ถึง 3.5-3.6% และครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีกว่าครึ่งแรก จากปัจจัยหนุนภาคส่งออกครึ่งแรกที่ขยายตัวได้ถึง 7.8% และทั้งปีคาดจะขยาย 5% (สรท. : สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ปรับเป้าเป็น 5% จาก 3.5%) อย่างไรก็ดีประเด็นน่าห่วงว่าการเติบโตของเศรษฐกิจยังกระจุกตัว ขณะที่ภาคเศรษฐกิจแท้จริง (real sector) โดยเฉพาะรายเล็กยังขาดสภาพคล่อง เม็ดเงินกระจายไปไม่ถึง

สะท้อนจากมุมมอง 2 บิ๊กธุรกิจ กลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย และ เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ดังนี้...

[caption id="attachment_190308" align="aligncenter" width="503"]  กลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย กลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย[/caption]

++ศก.ครึ่งหลัง-กำลังซื้อ ?
กลินท์ : หอการค้าไทย ได้ทำเซอร์เวย์ว่าครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร แต่ละคนต่างมั่นใจว่าครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกแน่นอน กำลังซื้อมีแนวโน้มจะดีขึ้น กกร. (คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน) ประมาณการจีดีพีปีนี้จะโต 3.5-4.0% ส่งออกโตในกรอบ 3.5-4.5% แต่เรื่องการกระจายรายได้ไปสู่ระดับฐานรากยังไปไม่ถึงหรือไปได้น้อยมาก ประเมินตัวเลขจากงบโครง การรัฐที่ยังทำได้ช้า เบิกจ่ายงบลงทุนเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ติดลบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 21% ต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคม ที่ติดลบ 16.5%

(9 เดือนปีงบ 2560 รายจ่ายด้านลงทุนเพิ่มเพียง 3.7% คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายแล้ว 45.3% ของกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุน 6.065 แสนล้านบาท เทียบกับกรอบเป้าหมายรายจ่ายลงทุนทั้งปีที่ตั้งไว้จะเพิ่ม 21.9% จากปีงบ 2559 โดยที่เป้าหมายอัตราเบิกจ่ายทั้งปีวางไว้ที่ 87%)

“ทุกวันนี้หลายบริษัทบอกกันว่าเศรษฐกิจดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วลองไปถามหอการค้าแต่ละจังหวัดบอกกันว่าไม่ดี ฐานรากต่างจังหวัดไม่ดีเลย ภาคเกษตรราคาสินค้าตกตํ่า และที่ผมเป็นห่วงคือเรื่องนํ้าท่วมที่จังหวัดสกลนคร นครพนม ขณะนี้มีสุโขทัยด้วย ไม่รู้ว่าจะท่วมต่ออีกมากน้อยแค่ไหน ที่ได้อานิสงส์จากส่งออกก็เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ 70-80 ราย แต่จำนวนนี้กว่า 50 รายเป็นบริษัทข้ามชาติ ส่งออกที่เป็นของคนไทยจริงมีกว่า 20-30 รายเท่านั้น”

[caption id="attachment_190307" align="aligncenter" width="414"]  เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย[/caption]

เจน : เศรษฐกิจฐานรากยังไม่ฟื้นดี และกลายเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลต่อกำลังซื้อ จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังเป็นปัจจัยสำคัญ คงต้องไปดูแลว่าการแก้ไขตรงนี้ที่รัฐอาจต้องไปจำกัดการใช้จ่าย มาตอนนี้กำลังซื้อรากหญ้ายังไม่ฟื้นดี ผู้กำหนดนโยบายต้องชั่งนํ้าหนักว่า ไทมิ่งหรือเวลาที่จะออกมาตรการต่างๆ จะมีช่วงขยับขยายหรือผ่อนปรนได้ไหม ถ้ามีช่วงผ่อนปรนก็จะเป็นอานิสงส์

“แน่นอนว่าการแก้ไขระดับหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ไทมิ่งบังคับใช้ จะผ่อนปรนได้ไหม แทนที่จะมีข้อจำกัดเลยทันที เพราะขณะนี้กำลังซื้อในประเทศก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ดำเนินนโยบายควรนำไปประกอบในการพิจารณา”

MP25-3285-AZ ++กระจายรายได้-กระตุ้น ?
กลินท์ : ภาครัฐต้องเร่งผลักดันงบเบิกจ่ายโครงการ คิดว่าเร็วๆ นี้ รัฐบาลคงมีมาตรการอะไรออกมา ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าควรมีมาตรการอะไรออกมากระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม อย่างปีที่แล้วที่เคยให้คนละ 15,000 บาท (ให้นำรายจ่ายท่องเที่ยวมาหักลดหย่อนภาษีได้รายละ 15,000 บาท) เชื่อว่าขณะนี้รัฐกำลังวางแผนเรื่องนี้อยู่

อย่างไรก็ดี คำถามคือจะทำอย่างไรให้เงินลงไปถึงฐานรากได้เร็วสุด หนึ่งในมาตรการที่หอการค้าไทยจะเสนอ เราเห็นว่าการท่องเที่ยวตอนนี้ต่างชาติมาเที่ยวไทยมากขึ้น แต่ยังกระจุกตัวในเมืองใหญ่ๆ ถามว่าสามารถกระจายไปเมืองรอง หรือเมืองย่อยๆ ให้มาเที่ยวมากขึ้นไหม เรา (หอการค้า) เสนอให้มีการประชุม อบรมสัมมนา และท่องเที่ยวในเมืองรอง เช่นที่จังหวัดลำพูน กำแพงเพชร ฯลฯ เป็นมาตรการที่สามารถทำได้เร็ว และกระจายรายได้ได้เร็วด้วย กกร. เองก็มีสมาชิกบริษัทอยู่แล้ว เพราะเรื่องท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับหลายภาคธุรกิจทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ด้านขนส่ง ฯลฯ

“ตรงนี้ภาครัฐต้องมีมาตรการออกมาส่งเสริมให้ต่างชาติและคนไทยเที่ยวในเมืองรองให้มากขึ้น ส่วนเรื่องโครงการสวัสดิการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย (เริ่ม 1 ตุลาคมนี้ วงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท 12 ล้านราย) ก็ช่วยเศรษฐกิจฐานรากได้ดีระดับหนึ่ง ดีกว่าที่ไม่ได้อะไรเลย”

เจน : ความจริงตอนนี้คนที่พร้อมจะออกมาลงทุนได้มากสุด ก็คือภาครัฐบาล โครงการต่างๆ ที่ควรเร่งทำและได้ประโยชน์กับทางรากหญ้า รัฐต้องเร่งเครื่องแล้ว ขณะนี้เหลือเพียง 3 เดือนที่จะหมดปีงบประมาณนี้ และไตรมาสสุดท้ายที่เป็นงบประมาณใหม่ ต้องทำให้เร็วสุดให้สภาพคล่องหมุนเวียนในภาคเศรษฐกิจ

“การอัดฉีดสู่ระดับรากหญ้า น่าจะไปเร่งในเรื่องการจัดจ้างจัดซื้อ การเบิกจ่ายและโปรเจ็กต์ของรัฐบาลให้เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนมาตรการรัฐที่เคยให้ เช่น ช็อปช่วยชาติ กลายเป็นเรื่องที่คนคาดหวังว่าจะได้ทุกปีอยู่แล้ว แต่ผมว่าต้องดูตามความจำเป็น เพราะด้านหนึ่งเราก็กระตุ้นให้คนใช้จ่าย ด้านหนึ่งเรากำลังบีบไม่ให้คนมีหนี้สินเพิ่ม ซึ่งก็เข้าใจความลำบากของรัฐบาลว่าอันไหนจะเอาก่อน อันไหนเอาหลัง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560