จี้รัฐสะกัดนำเข้าเหล็กGI ผู้ผลิตแนะคุ้มครองฉุกเฉินก่อนทะลักอีกล็อตใหญ่

06 ส.ค. 2560 | 05:30 น.
วงการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีผวา มีปริมาณนำเข้ามากกว่า 50% ล่าสุดมีออร์เดอร์อยู่กลางทะเลล็อตใหญ่จากจีนทะลักเข้าไทย 2 หมื่นตัน มั่นใจเข้ามาขายในราคาตัดหน้า วอนรัฐเร่งประกาศใช้เอดี หรือออกมาตรการฉุกเฉินคุ้มครอง

แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีหรือเหล็กGI เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ผลิต GI ในประเทศกว่า 10 ราย มีกำลังผลิตเต็มเพดานรวมกันราว 1 ล้านตัน แต่ผลิตได้จริง 40-50% เท่านั้น เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศที่มี 1 ล้านตันต่อปีใช้กำลังผลิตจากในประเทศได้ไม่ถึง 50% แต่หันไปนำเข้ามาก กว่า 50% หรือราว 6 แสนตันต่อปี สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฉพาะจีนประเทศเดียวมีการนำเข้ามากถึง 60,000 ตันต่อเดือน โดยเข้ามาขายถูกกว่าไทย 10,000-20,000 บาทต่อตัน หรือมีราคาตั้งแต่ 24,000-25,000 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาเหล็กGIในประเทศอยู่ที่ 26,000 บาทต่อตัน

“ผู้ผลิตเหล็กGIในประเทศ กำลังได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กนำเข้าที่ขายในราคาถูกกว่าได้ โดยเฉพาะเหล็กGIจากจีนขายในราคาถูกกว่า โดยนำเข้ามาภายใต้กรอบ FTA อัตราภาษีเป็น 0% ประเทศไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการนำเข้า ในขณะที่ผู้ผลิตในประเทศได้รับผลกระทบเพราะแข่งขันไม่ได้”

TP10-3285-B แหล่งข่าวกล่าวว่าขณะนี้มีเหล็กGIล็อตใหญ่ลอยเรืออยู่กลางทะเล นำเข้ามาจากจีนเพียงออร์เดอร์เดียว 20,000 ตัน เป็นการนำเข้าล็อตใหญ่ และมีการนำเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งวงการเหล็กตั้งข้อสังเกตว่า การนำเข้ามาในช่วงหลังนี้มีจุดประสงค์ 2 ด้านคือ 1.ราคาเหล็กในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยับราคาสูงขึ้นหลังจากที่ราคาเหล็กผ่านจุดตํ่าสุดมาแล้ว ทำให้ผู้นำเข้าเร่งสต๊อกเหล็ก GI เพื่อทำกำไร 2. ผู้นำเข้าเกรงว่า มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือเอดีเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ที่กำลังอยู่ระหว่างไต่สวน จะประกาศใช้ในเร็วๆนี้ หลังจากที่ผู้ประกอบการผลิตเหล็กGIขอให้รัฐพิจารณาเก็บภาษีอากรเอดีเหล็กGIจากจีนและไต้หวันในอัตราเพดาน 30% และเก็บจากเกาหลี 10%

อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ผลิตเหล็กGIอยากวิงวอนภาครัฐว่า ในระหว่างที่รอประกาศใช้มาตรการเอดี ซึ่งใช้เวลาพิจารณานานนับปี นับจากที่เริ่มเปิดไต่สวนตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 เหลือเวลาอีก 2 เดือนจะครบ 1 ปีแล้ว ดังนั้นถ้าภาครัฐอยากจะช่วยผู้ผลิตเหล็กในประเทศจริงๆก็สามารถออกมาตรการฉุกเฉินคุ้มครองได้ก่อน และเวลานี้เหล็กGIเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กชนิดเดียวที่ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมาคุ้มครอง ในขณะที่เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น ท่อเหล็ก เหล็กโครง สร้างรูปพรรณ เหล็กลวด มีมาตรการเอดีและมาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) ปกป้องอยู่แล้ว
ข้อมูลจากวงการเหล็กระบุว่า มาตรการทางการค้าปี 2560 เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็กพบว่า ระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2560 มีการเปิดไต่สวนและบังคับใช้มาตรการทางการค้าทั้งสิ้น 66 มาตรการ ประเทศที่เป็นผู้ฟ้องหลักคือสหรัฐอเมริกา 11 มาตรการ สหภาพยุโรป 9 มาตรการ บราซิล 5 มาตรการ อาเซียน 12 มาตรการ (มาเลเซีย 4, เวียดนาม 4, ไทย 3, อินโดนีเซีย1) โดยประเทศที่ถูกฟ้องหลักคือจีน 23 มาตรการ โดยประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรปและออสเตรเลีย บังคับใช้ทั้งมาตรการเอดีและซีวีดีควบคู่กัน โดยจะเห็นว่าประเทศไทยมีมาตรการปกป้องผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตในประเทศน้อยมาก และดำเนินการช้า ทำให้ผู้ผลิตในประเทศ ได้รับผลกระทบ บางรายปิดกิจการไปแล้ว บางรายควบรวมกิจการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560