แนะผู้ประสบภัยน้ำท่วม คิดบวก ด้วยหลัก “ ผ-อ-ก” ใจแกร่งขึ้น

04 ส.ค. 2560 | 06:56 น.
กรมสุขภาพจิต เร่งฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม   แนะผู้ประสบภัยใช้เทคนิคใกล้ตัวคลี่คลายความเครียด ด้วยการคิดทางบวก ด้วยหลัก “ผ-อ-ก”  มองวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเรา  น้ำท่วมอยู่ไม่นาน น้ำท่วมครั้งนี้มีโอกาสได้เห็นความรักสามัคคีต่อกัน และช่วยให้มีจิตใจแกร่งและเก่งขึ้น ใช้ประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้วางแผนป้องกันในอนาคตได้ดีขึ้น

[caption id="attachment_189886" align="aligncenter" width="503"] นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต[/caption]

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการดูแลสุขภาพจิตของผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า  ขณะนี้ทีมจิตแพทย์ ศูนย์สุขภาพจิต  และทีมเครือข่ายจากโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งอาสาสาสมัครสาธารณสุขเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชุมชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้เร่งให้การดูแลปฐมพยาบาลทางจิตใจแก่ผู้ประสบภัยควบคู่การดูแลสุขภาพกายเพื่อคลี่คลายความตึงเครียด ความกังวล ซึ่งเป็นตัวการสำคัญขัดขวางการปรับตัวต่อสิ่งต่างๆในการดำเนินชีวิตของผู้ประสบภัย  ทำให้การฟื้นตัวช้าลงหาทางออกจัดการกับปัญหาไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เป็นกันมากคือโรคความดันโลหิตสูงโรคเบาหวานอยู่แล้ว หากมีความเครียดในจิตใจ  จะส่งผลทำให้การควบคุมความดันโลหิตหรือระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีตามไปด้วย  โดยได้รับรายงานว่ามีผู้ประสบภัยที่มีโรคความดันโลหิตสูง มีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นหลายราย

 

[caption id="attachment_189888" align="aligncenter" width="503"] จุดอพยพชั่วคราว จุดอพยพชั่วคราว[/caption]

ด้านนายแพทย์อาทิตย์ เล่าสุอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์กล่าวว่า ในการคลี่คลายความเครียด ที่ปฏิบัติได้ดีที่สุดในเบื้องต้นก็คือการปรับที่วิธีการคิดใหม่   ขอให้ประชาชนคิดในทางบวกซึ่งจะช่วยเยียวยาตัวเองเบื้องต้น   มองวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเราเอง  ด้วยการใช้หลักคิด  “ผ-อ-ก”  กล่าวคือ  ตัวผอ  = ผ่านไป ให้คิดเสมอว่าปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้อยู่กับเราไม่นาน เดี๋ยวมันก็ผ่านไป  ตัวออ = โอกาส  ให้คิดต่อว่ามันคือโอกาสที่ทำให้เราได้วางแผนป้องกันปัญหานี้ในอนาคตได้หากมีน้ำท่วมเกิดขึ้นอีกสักกี่ครั้งก็ตาม และยังเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เห็นความรัก สามัคคี ความเอื้ออาทรต่อกันและกันในชุมชนสังคมของเรา  และตัวกอ= เก่งขึ้น ให้คิดว่า อุทกภัยครั้งนี้หากเราก้าวผ่านวิกฤติมันไปได้ จะทำให้เราเก่งและแกร่ง มีจิตใจเข้มแข็งต่อเหตุการณ์ทุกๆอย่างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต   การมีประสบการณ์ตรงจะทำให้เราเกิดการเรียนรู้และจดจำการเผชิญกับเหตุการณ์นั้นๆ เมื่อจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ก็จะสามารถจัดการปัญหา ตั้งแต่การป้องกันได้ดีกว่าผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาเลย ซึ่งหลักการคิดที่กล่าวมานี้ สามารถใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

80231 ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี  โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า ลักษณะอาการที่เกิดจากความเครียด จะปรากฎออกมาหลายอย่าง คือ ปวดต้นคอ  ปวดท้ายทอย  ปวดท้อง ท้องเสีย  ปวดหัว  ใจสั่น นอนไม่หลับ รู้สึกหวาดหวั่น   กลัวโดยไม่มีเหตุผล  ไม่ค่อยมีสมาธิ ความจำไม่ค่อยดีเหมือนเมื่อก่อน  ถ้ามีอาการเครียดมากคือ ปวดหัวมาก นอนไม่หลับบ่อย ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วไม่สดชื่น  ในกรณีที่หาเพื่อนคุย ออกกำลังกายแล้วยังไม่ดีขึ้น    ควรรีบปรึกษาแพทย์ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้

“ ไม่ควรซื้อยาหรือขอยืมยาคลายเครียดหรือที่มักเรียกกันว่ายากล่อมประสาทจากผู้ที่เคยมีอาการเครียดมากินเอง   เนื่องจากจะทำให้มีโอกาสติดยา  หรือบางรายอาจทำให้บดบังอาการทางจิตเวช ทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากยาชนิดนี้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท  จะไปกดการทำงานของสมอง ทำให้จิตใจและอารมณ์เปลี่ยนแปลง  ร่างกายและจิตใจไม่อยู่ในสภาพตื่นตัว ยังเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย   และประการสำคัญความเครียดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับต้นทุนชีวิตของแต่ละคนว่าจะสามารถปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งว่าจะทำให้เกิดความเครียดน้อยหรือเครียดมาก จึงควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง