ยกเครื่อง! ไอที รับยุคดิจิตอล 'แบงก์-ทีวี-ค้าปลีก' ตื่นสู้อี-เพย์เมนต์ โอทีที อี-คอมเมิร์ซ’

05 ส.ค. 2560 | 01:38 น.
ผลกระทบการเปลี่ยนผ่านดิจิตอล ปลุกบิ๊กธุรกิจแบงก์-ทีวี-ค้าปลีก” ตื่นเปลี่ยนแปลงตัวเองสู้คู่แข่งรายใหม่ ทั้งผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์-โอทีที-อี-คอมเมิร์ซ” ระบุเทคโนโลยีหลักเริ่มลงทุน คือ บิ๊กดาต้า ธุรกิจอัจฉริยะ และซิเคียวริตี

นายจาริตร์ สิทธุ ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัย สายงานศึกษาตลาดไคลเอนต์ ดีไวซ์ ประจำไอดีซี ประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าภาพรวมธุรกิจไอทีช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานั้นฝั่งคอนซูเมอร์ยังไม่มีเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงตลาดอย่างมีนัยสำคัญ โดยตลาดที่มีการเติบโตยังคงเป็นตลาดสมาร์ทโฟน ที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นเรือธงเข้ามาทำตลาด ขณะที่ผู้ผลิตมีการลงทุนกระตุ้นตลาด

ส่วนฝั่งธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาก เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตอล ทำให้องค์กรดั้งเดิม ทีเป็น่ยักษ์ใหญ่ในตลาด เริ่มศึกษาการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิตอล และแข่งขันกับคู่แข่งรายใหม่ อาทิ กลุ่มธนาคาร ที่เริ่มมีการปรับเข้าสู่ฟินเทค ภายหลังที่ได้รับผลกระทบจากผู้ให้บริการอี-เพย์เมนต์ หรือกลุ่มโทรทัศน์ ที่ได้รับผลกระทบจากผู้ประกอบการบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (OTT) หรือธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ

[caption id="attachment_188269" align="aligncenter" width="335"] จาริตร์ สิทธุ ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัย สายงานศึกษาตลาดไคลเอนต์ ดีไวซ์ ประจำไอดีซี ประเทศไทย จาริตร์ สิทธุ ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัย สายงานศึกษาตลาดไคลเอนต์ ดีไวซ์ ประจำไอดีซี ประเทศไทย[/caption]

“การลงทุนโดยภาพรวมของประเทศปีนี้ชะลอตัว เนื่องจากความไม่แน่นอนปัจจัยเอื้อการลงทุน และนโยบายรัฐในการสนับสนุนการลงทุน แต่ในธุรกิจไอที เห็นการลงทุนของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่ดิจิตอล โดยมองว่าถ้าไม่ปรับตัวอนาคตธุรกิจที่เติบโตลดลง จะมีปัญหาแน่นอน เนื่องจากผู้เล่นรายใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนธุรกิจและบริการ มีต้นทุนบริการตํ่ากว่า และบริการรวดเร็ว คล่องตัวกว่า”

สำหรับ 3 เทคโนโลยีที่องค์กรให้ความสนใจลงทุนขณะนี้คือ บิ๊กดาต้า ระบบธุรกิจอัจฉริยะ หรือบิสิเนส อินเทลลิเจนต์ สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล และระบบรักษาความปลอดภัยไอที หรือ ไอทีซิเคียวริตี ส่วนที่กำลังศึกษาอยู่เป็นเทคโนโลยีแชตบอล ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ รวมไปถึงรอความพร้อมของเทคโนโลยี วีอาร์ (Virtual Reality) และ เออาร์ (Augmented Reality) เนื่องจากวันนี้ผู้บริโภคเริ่มมองว่าโมบายแอพพลิเคชัน เริ่มถึงจุดที่ไม่มีอะไรน่าสนใจแล้ว

“ที่ผ่านมาเห็นการลงทุนด้านระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง เพื่อทำให้โครงสร้างพื้นฐานไอที มีความยืดหยุ่น พร้อมรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยต้นปีที่ผ่านมาเห็นธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มศึกษาและลงทุนในเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า และอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ ไอโอที ที่มีเซ็นเซอร์เก็บข้อมูล มีการเก็บข้อมูลจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ และระบบวิเคราะห์ข้อมูล”

นายจาริตร์ กล่าวต่อไปอีกว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นมีโครงการพัฒนาสู่ดิจิตอลขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย บางแห่งมีการตั้งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงทางด้านการบริหารจัดการข้อมูล หรือซีดีโอ Chief Data Officer) ขึ้นมาดูแลข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามโครงการเหล่านี้เป็นการลงทุนระยะยาว โดยในครึ่งปีหลังจะเห็นการลง?ทุนชัดเจน และจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปีหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560