ปรับโครงสร้าง‘TOT-CAT’ พนักงาน 2 หมื่น ระส่ำ!

05 ส.ค. 2560 | 01:44 น.
หลังมติคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 เห็น ชอบในหลักการให้จัดตั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN Co) และ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC Co) เพื่อแก้ปัญหาการลงทุนซํ้าซ้อน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

**สหภาพฯคัดค้าน
หากแต่ไม่ได้เป็นแบบนั้น เนื่องจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (สร.กสท) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (สรท.) ได้ออกหนังสือแถลงการณ์ร่วมคัดค้านให้จดทะเบียน NBN Co และ NGDC Co

เห็นว่าการวิเคราะห์แผน การดำเนินงานของ บริษัท ไพร์ซ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดตั้งบริษัท NBN Co และ บริษัท ดีลอยท์ ประเทศไทย จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด เพื่อจัดตั้งบริษัท NGDC Co จำกัด

เหตุผลที่ทั้ง 2 สหภาพออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้าน ผลพวงเกิดจากผลการวิเคราะห์ซึ่งที่ปรึกษาทั้ง 2 บริษัทได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงที่มาของประมาณการทางการเงินของทั้ง 2 บริษัท จะมีผลขาดทุนอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี นั้นหมายความว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของทั้ง 2 บริษัท ในอนาคต ดังนั้นที่มาของรายได้จึงไม่มีความแน่นอน รายได้ไม่มีความชัดเจนจะส่งผลกระทบต่อบริษัทลูกและบริษัทแม่ทำให้ไม่มีความชัดเจน

MP22-3248-A **แจง 9 ข้อผลกระทบ
การปรับโครงสร้างครั้งสำคัญครั้งนี้ สหภาพมองว่า ทั้ง 2 หน่วยงานกำลังถูกแยกโครงข่ายหลักระบบสื่อสัญญาณ โครงข่ายสายตอนนอก และโครงข่ายระหว่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้นการแยกทรัพย์สินครั้งนี้จะมีรูปแบบจากผู้ประกอบการรายใหญ่ คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท ทริปเปิลที อินเตอร์เน็ต จำกัด และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เป็นต้น

ดังนั้นการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อ ทีโอที โฮลดิ้ง และ แคท โฮลดิ้ง ซึ่งสหภาพ ได้แจงผลกระทบด้วยกัน 9 ข้อ คือ 1.ขาดโอกาสทางธุรกิจไม่สามารถแข่งขันสร้างบริการคอนเวอร์เจนต์ใหม่ๆ ต่างกับผู้ประกอบการรายเดิมที่มี โครงข่ายเป็นของตนเอง, 2.มีภาระค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเช่าร่วมกัน, 3.เกิดปัญหาการบริหารจัดการที่เป็นค่าเช่าร่วมกัน คุณ ภาพบริการ ที่มีขั้นตอนซํ้าซ้อน (ผ่านคณะกรรมการของแต่ละบริษัท) ไม่สามารถควบคุมได้เบ็ดเสร็จ

สำหรับข้อที่ 4 การบริหารและการดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกัน จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ ทำให้เกิดความไม่เชื่อถือ และยกเลิกการให้บริการในที่สุด, 5.ขนาดขององค์กรมีขนาดเล็กจะทำให้อำนาจการต่อรองลดลง, 6.การหาพันธมิตรยากขึ้นเพราะไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง, 7.ในกรณีที่เข้าร่วมประมูลกรณี ทีโออาร์ ระบุว่า ต้องมีโครงข่ายเป็นของตนเอง จะทำให้ไม่สามารถเข้าประมูลได้, 8.ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างเท่าเทียม และข้อสุดท้ายคือ ต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายในองค์กรมีมากขึ้นพนักงานส่วนมากจะไม่ยอมย้ายไปอยู่บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่เนื่องจากสิทธิสวัสดิการลดลง (พนักงานบริษัทใหม่ได้สิทธิเพียงแค่สวัสดิ การประกันสังคมเท่านั้น)

[caption id="attachment_188255" align="aligncenter" width="503"] ขอบคุณภาพ จาก FB.แมวเหมียว สร้างภาพ ขอบคุณภาพ FB.แมวเหมียว สร้างภาพ[/caption]

**เดินหน้าร้องเรียน
การปรับโครงสร้างครั้งนี้สหภาพ เดินหน้าร้องเรียนยื่นหนังสือเพื่อตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนและการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

นอกจากนี้ ในวันที่ 2 สิงหาคม ได้เรียกร้องให้พนักงานทั้ง 2 องค์กรเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ณ ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อแสดงความปกป้องผลประโยชน์ต่อองค์กร

แน่นอนว่าการออกมาร่วมคัดค้านครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงสถานภาพ และแรงกระเพื่อมไปถึงพนักงาน ทีโอที ที่มีอยู่ประมาณ 1.3 หมื่นคน และ แคท ประมาณ 8 พันคน เมื่อรวมกันราว 2 หมื่นคน เพราะการปรับโครงสร้างครั้งนี้สถานะองค์กรเปลี่ยนไปรวมไปถึงสวัสดิการที่ได้รับอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560
ขอบคุณภาพ : FB.แมวเหมียว สร้างภาพ