ครม.อนุมัติงบกลาง 5.1 พันล.สร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชกับบางใหญ่-กาญจน์

01 ส.ค. 2560 | 08:24 น.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประชุมในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ซึ่งมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ดังนี้

1. การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 5,112 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา และสายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ของกรมทางหลวง (ทล.)

ครม. ได้มีมติอนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 5,112 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา และสายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ของ ทล. ซึ่งกระทรวงฯ โดย ทล. ได้ประสานสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และได้รับความเห็นชอบกรอบวงเงิน จำนวน 5,112 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ดังนี้

1) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 500 ล้านบาท ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
2) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี จำนวน 4,612 ล้านบาท เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 1,842 ล้านบาท และค่าก่อสร้างงานโยธา จำนวน 2,770 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรอบวงเงินเดิมที่ ครม. ได้เคยอนุมัติไว้ เพื่อให้สามารถจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและจ่ายค่างานล่วงหน้า 15% ได้

ทั้งนี้ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 วันที่ 8 มีนาคม 2559 และ 20 กันยายน 2559 อนุมัติให้กระทรวงฯ โดย ทล. ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา วงเงินลงทุน 76,600 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี วงเงินลงทุน 49,120 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุนของทั้ง 2 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 125,720 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 - 2563 ซึ่งกระทรวงฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณและได้โอนเปลี่ยนแปลงเงินงบประมาณโครงการอื่นของ ทล. มาเพื่อใช้ดำเนินโครงการทั้ง 2 โครงการ สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 - 2561 แล้ว พบว่า

แผนการดำเนินงานของทั้ง 2 โครงการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ยังขาดงบประมาณอีกจำนวนทั้งสิ้น 5,112 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษาได้สำรวจพื้นที่โครงการเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2551 เพื่อใช้ในการออกแบบก่อสร้างโครงการ โดยมิได้สำรวจทรัพย์สินเพื่อการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือกำหนดค่าทดแทนตามกฎหมาย กระทรวงฯ โดย ทล. จึงได้เสนอสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมทั้งสิ้น 11,920 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา จำนวน 500 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี จำนวน 7,484 ล้านบาท และค่าก่อสร้างงานโยธาโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี จำนวน 3,936 ล้านบาท

2. ร่างประกาศคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เรื่อง มาตรฐานป้ายสัญลักษณ์ในระบบขนส่งสาธารณะ
ครม. ได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เรื่อง มาตรฐานป้ายสัญลักษณ์ในระบบขนส่งสาธารณะ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการการปฏิบัติงาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ หรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ สืบเนื่องจาก ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 รับทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 เห็นชอบมาตรฐานป้ายสัญลักษณ์ในระบบขนส่งสาธารณะ และมอบให้กระทรวงฯ นำมาตรฐานป้ายสัญลักษณ์ในระบบขนส่งสาธารณะเสนอต่อ ครม. ให้ความเห็นชอบ นั้น กระทรวงฯ ได้ดำเนินการจัดทำร่างประกาศคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เรื่อง มาตรฐานป้ายสัญลักษณ์ในระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ หรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุต่อไป โดยมีสาระสำคัญของร่างประกาศ ดังนี้

1. กำหนดนิยาม “ป้ายสัญลักษณ์” และ “ระบบขนส่งสาธารณะ”
2. กำหนดให้ป้ายสัญลักษณ์แบ่งออกเป็น 7 หมวด ดังนี้
2.1 ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไป กำหนดให้เป็นป้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี 2 ชนิด คือ (1) ชนิดพื้นสีขาว เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีดำ และ (2) ชนิดพื้นสีน้ำเงิน เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีขาว เช่น ป้ายสัญลักษณ์ “ห้องสุขา” (ทั่วไป) “ห้องสุขา” (ชาย) “ห้องสุขา” (หญิง) ฯลฯ

2.2 ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมกำหนดให้เป็นป้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี 2 ชนิด คือ (1) ชนิดพื้นสีขาว เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีดำ และ (2) ชนิดพื้นสีน้ำเงิน เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีขาว เช่น ป้ายสัญลักษณ์ “ที่จอดรถ” “เที่ยวบินขาออก” “เที่ยวบินขาเข้า” ฯลฯ

2.3 ป้ายสัญลักษณ์ห้าม กำหนดให้เป็นป้ายวงกลม พื้นสีขาว เส้นขอบป้ายและเส้นคาดแดง ข้อความ และสัญลักษณ์สีดำ เช่น ป้ายสัญลักษณ์ “ห้ามสูบบุหรี่” “ห้ามจอดรถ” “ห้ามหาบเร่” ฯลฯ
2.4 ป้ายสัญลักษณ์เตือน กำหนดให้เป็นป้ายสามเหลี่ยมด้านเท่า พื้นสีเหลือง เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีดำ เช่น ป้ายสัญลักษณ์ “สิ่งกีดขวาง” “ระวังพื้นลื่น” “ระวังศีรษะ” ฯลฯ

2.5 ป้ายสัญลักษณ์ความปลอดภัย กำหนดให้เป็นป้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี 3 ชนิด คือ (1) ชนิดพื้นสีแดง เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีขาว (2) ชนิดพื้นสีขาว เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีเขียว และ (3) ชนิดพื้นสีขาว เส้นขอบ และเส้นคาดสีแดง ข้อความ และสัญลักษณ์สีดำ เช่น ป้ายสัญลักษณ์ “ทางออกฉุกเฉิน” “พื้นที่ปลอดภัย” “บันไดหนีไฟ” ฯลฯ
2.6 ป้ายสัญลักษณ์จำกัดสิทธิ์ กำหนดให้เป็นป้ายวงกลม พื้นสีน้ำเงินหรือสีฟ้า เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีขาว เช่น ป้ายสัญลักษณ์ “กรุณางดใช้เสียง” “กรุณายืนชิดขอบด้านขวา” “กรุณายืนชิดขอบด้านซ้าย” ฯลฯ

2.7 ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ กำหนดให้เป็นป้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี 2 ชนิด คือ (1) ชนิดพื้นสีน้ำเงิน เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีขาว และ (2) ชนิดพื้นสีขาว เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีน้ำเงิน เช่น ป้ายสัญลักษณ์ “ห้องสุขาเฉพาะสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ” “ที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ” “ลิฟต์เฉพาะสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ” ฯลฯ