ตั้งทีมจิตแพทย์ดูแล“ผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน”พ.ท.น้ำท่วมสกลนคร 24ชม.

29 ก.ค. 2560 | 04:02 น.
กรมสุขภาพจิต ตั้งทีมจิตแพทย์ เป็นที่ปรึกษาในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินแก่แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดสกลนครตลอด 24 ชั่วโมง ชี้สภาวะน้ำท่วมฉับพลันอาจทำให้ผู้ติดสุราหยุดดื่มกระทันหัน เกิดอาการถอนเหล้าได้ง่าย รวมถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคจิตเภท หากขาดยามีโอกาสกำเริบได้ พร้อมสำรองเตียงรองรับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯไว้ 30 % แนะผู้ประสบภัยให้พูดคุยคนใกล้ชิด ญาติหรือเจ้าหน้าที่ จะช่วยลดเครียด คลายความทุกข์ใจได้ ไม่ควรหมกมุ่นดูข่าวตลอดเวลา

วันนี้ (29 ก.ค. 2560) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการจัดระบบการดูแลประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมฉับพลันที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งวิกฤติรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ว่า ในระยะฉุกเฉินช่วงแรกนี้ ได้สั่งการให้โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์และศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่ จ.สกลนครและใกล้เคียง ตั้งทีมจิตแพทย์ เป็นที่ปรึกษาในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตใจและอารมณ์ แก่แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ตลอด 24 ชั่วโมง

st

เนื่องจากในบางพื้นที่ถนนถูกน้ำท่วมสูง ไม่สามารถใช้การได้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ใกล้บ้านและรวดเร็ว โดยเฉพาะประเด็นที่น่าห่วงคือผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง เมื่อมีน้ำท่วมอาจจะทำให้หยุดดื่มสุรากะทันหัน และเกิดอาการถอนสุราขึ้นคือ เพ้อสับสน มีประสาทหลอน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยและอาการทุเลาลงโดยเร็วที่สุด อีกทั้งกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท ต้องไม่ให้ขาดยา ป้องกันอาการกำเริบป่วยซ้ำ เพราะจะทำให้อาการเจ็บป่วยเป็นรุนแรงมากขึ้น มีโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยเอง เช่น คิดฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตนเองเป็นต้น

ทั้งนี้หากผู้ติดสุรารวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ เกิดอาการกระวนกระวาย นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย ผู้ใกล้ชิดหรือญาติ สามารถขอรับบริการปรึกษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือหากบริเวณที่น้ำท่วมให้ติดต่อที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งจะมีหน่วยแพทย์และหน่วยปฐมพยาบาลจิตใจให้บริการ หรือแจ้งอสม.หรือโทรแจ้งสายด่วน1669 หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเสียค่าโทรแต่อย่างใด

นอกจากนี้ได้สำรองเตียงผู้ป่วยไว้ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯไว้ 30% สำหรับดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินจากจังหวัดสกลนคร ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วยจิตเวชขึ้นทะเบียนรักษาประมาณ 14,000 คน โดยมีการประสานการทำงานในการจัดบริการดูแลจิตใจประชาชนอย่างใกล้ชิด กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนครและโรงพยาบาลสกลนคร อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า ได้วางแผนกับทีมเครือข่ายช่วยเหลือเยียวยาจิตใจในภาวะวิกฤติหรือทีมเอ็มแคท ( Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team:MCATT )ในจังหวัดสกลนครเพื่อดูแลปฐมพยาบาลจิตใจแก่ผู้ประสบภัย ซึ่งในวันนี้ได้จัดทีมออกบริการที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ศาลากลางจังหวัดสกลนคร และในวันอาทิตย์จะส่งทีมเอ็มแคทจากรพ.จิตเวชนครพนมฯ ไปเสริม โดยจะตรวจคัดกรองความเครียดและอาการซึมเศร้าในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตจากน้ำท่วม และจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือเป็นลำดับแรก ได้แก่

กลุ่มที่มีประวัติเจ็บป่วยจิตเวชอยู่เดิม กลุ่มที่มีประวัติการใช้สุราหรือสารเสพติดมาก่อนหน้านี้ 2 สัปดาห์ กลุ่มที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว รวมถึงกลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือพิเศษเช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก สำหรับกลุ่มเด็ก อาจจะต้องหมั่นเฝ้าระวังพฤติกรรมโดยทั่วไปว่าเครียดหรือไม่ อาทิเช่น เด็กอาจจะรับประทานอาหารยากขึ้น อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย หรือซึมเหม่อลอย ไม่ค่อยเล่นเหมือนเดิม เป็นต้น จะต้องให้การช่วยเหลือ โดยให้เด็กได้มีการผ่อนคลาย การเล่นร่วมกัน การเล่านิทาน การให้เด็กช่วยกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันเป็นต้น

ซึ่งในภาวะน้ำท่วมในระยะแรก ประชาชนทั่วไปจะมีความเครียดง่ายโดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางราชการเป็นหลัก ติดตามเป็นระยะๆ ไม่ควรหมกมุ่นหรือครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลากับภาพที่ปรากฏซ้ำๆในสื่อ ซึ่งจะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น และควรลดการสื่อสารหลายช่องทาง อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถผ่อนคลายความเครียดตนเองโดยการพูดคุยกับผู้ใกล้ชิด ญาติ หรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ การพุดคุยจะช่วยระบายความเครียด ทุกข์ในใจไม่ให้สะสมในจิตใจได้ ในรายมีอาการที่รุนแรงเช่น ร้องไห้ฟูมฟายมากอย่างไม่มีสติ คิดทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย ให้แจ้งบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้การรักษาทันที