ทางออกนอกตำรา : ชำแหละ EARTH งบหลอก-เจ้าหนี้ลวง?

29 ก.ค. 2560 | 08:59 น.
 

2546879 ทางออกนอกตำรา
โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ชำแหละ EARTH งบหลอก-เจ้าหนี้ลวง?

ใครจะคาดคิดว่า บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ที่ประกอบธุรกิจค้าขายถ่านหิน ซึ่งในไตรมาสแรกของปีแจ้งผลประกอบการว่า มีรายได้ 7,861 ล้านบาท มีสินทรัพย์ 35,725 ล้านบาท มีหนี้สิน 25,034 ล้านบาท แจ้งผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 68 ล้านบาท ซึ่งถือว่าขาดทุนนิดหน่อยเมื่อเทียบกับขนาดธุรกิจ จะออกมาประกาศขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง....

earth2_logo

ข้ออ้างจากมติของคณะกรรมการ EARTH ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์คือ การเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยวิธีการฟื้นฟูกิจการจะช่วยรักษาธุรกิจของบริษัทให้ดำเนินการต่อเนื่องได้ตามปกติ และเพื่อรักษามูลค่าทางธุรกิจ ตลอดจนป้องกันให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อบรรดาพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้าของบริษัท หลังบริษัทเข้าสู่ภาวะที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน

EARTH ยังระบุให้เจ้าหนี้ใจสะท้านอีกว่า หากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งบริษัทเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บรรดาอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทจะตกเป็นของบริษัท ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

1501317164808

คณะกรรมการที่มี พิสุทธิ์ พิหเคนทร์ เป็นประธานกรรมการ ขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร  ธนาวรรธน์ ประทุมสุวรรณ์  เป็นกรรมการผู้จัดการ พิรุฬห์ พิหเคนทร์  พิพรรธ พิหเคนทร์  พิบูล พิหเคนทร์  เป็นกรรมการ ให้เหตุผลของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการว่า สืบเนื่องจากบริษัทได้ผิดนัดชำระหนี้บรรดาหนี้ตั๋วแลกเงิน หนี้สินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ หนี้หุ้นกู้ และหนี้สถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งในบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหมด เจ้าหนี้สถาบันการเงินรายหนึ่งได้เรียกให้บริษัทชำระหนี้ที่ค้างอยู่ตามเงื่อนไขการให้สินเชื่อ ซึ่งบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวตามที่ถูกเรียกร้องมาได้ ส่งผลให้บริษัทถูกระงับการใช้วงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินทุกแห่งที่บริษัทใช้อยู่

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจของบริษัท และส่งผลให้การประกอบธุรกิจของบริษัทมีการชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้คู่ค้าของบริษัทหลายรายได้เริ่มดำเนินการใช้บรรดาสิทธิเรียกร้องต่อบริษัทเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการเรียกร้องบรรดาค่าเสียหายอื่นๆ จากบรรดาคู่ค้าของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการประกอบธุรกิจของบริษัท ส่งผลให้บริษัทอยู่ในภาวะที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน บริษัทจำเป็นที่จะต้องดำเนินการหาแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ที่ดีที่สุด เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อบรรดาพนักงาน ลูกค้าและคู่ค้าของบริษัท

แปลไทยเป็นไทยให้ชัดเจนลงไปว่า ผลจากเจ้าหนี้เงินกู้รายใหญ่ ซึ่งก็คือธนาคารกรุงไทยระงับการให้สินเชื่อ ตัดวงเงิน ทำให้คู่ค้าเรียกค่าเสียหายจนมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน....
1501317191045

ด้วยเหตุผลที่ระบุว่ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินนี่แหละคือตัวที่สังคมคาใจ เพราะคงไม่มีใครคาดคิดว่าเพียงแค่ 3 เดือน บริษัทที่ทำธุรกิจเป็นหมื่นล้านบาทจะจมดิ่งลงในหลุมไปได้

ไม่มีใครเชื่อว่า หนี้สินที่แจ้งในงบการเงินในไตรมาส 1 ว่ามีแค่ 25,034 ล้านบาท จะขยับขึ้นมายืนที่ระดับ 47,000 ล้านบาทในชั่วเวลาลัดนิ้วมือจาก เม.ย.-พ.ค.-มิ.ย.-ก.ค.แน่นอน

อย่าว่าแต่ผู้ถือหุ้น 7,000 รายจะกังขาอ้าปากค้าง อย่าว่าแต่เจ้าหนี้สถาบันการเงินรวม 18,150 ล้านบาท อันประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย 12,000 ล้านบาท กสิกรไทย 3,800 ล้านบาท กรุงศรีอยุธยา 1,200 ล้านบาท เอ็กซิมแบงก์ 350 ล้านบาท และเจ้าหนี้บี/อี หุ้นกู้ อันประกอบด้วย เคจีไอ ไทยพาณิชย์ โนมูระ และบล.กรุงไทย ร่วม 7,000 ล้านบาท จะอ้าปากค้าง

ผมว่าแม้แต่ สุดวิณ  ปัญญาวงศ์ขันติ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขที่ 3534  ที่บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PWC) ส่งไปตรวจสอบงบการเงินในไตรมาส 1/260 ก็คงขวัญผวา...อ้าปากค้าง

ขวัญผวาอ้าปากค้างเพราะเธอเป็นคนตรวจสอบและบันทึกไว้ในงบการเงินไตรมาส 1 ว่า “ข้าพเจ้าไม่พบสิ่งที่เป็นเหตุให้เชื่อว่าข้มูลทางการเงินรวมและข้อมูลทางการเงินเฉพาะกิจการระหว่างกาลังกล่าวไม่ได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบญัชี ฉบับที่ 34 เรื่อง งบการเงินระหว่างกาล ในสาระสำคัญจากการสอบทานของข้าพเจ้า”

ผมไปตรวจสอบงบการเงินของ EARTH ที่ลงนามรับรองโดย ขจรพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร และ ธนาวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ  ลงนาม พบร่องรอยที่น่าสนใจว่า ไตรมาส 1/2560 บริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มจากปีก่อนที่มีรายได้แค่ 3,736 ล้านบาท แต่พอปีนี้ขยับเป็น 7,860 ล้านบาท มีต้นทุนการขาย 7,029 ล้านบาท แต่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 341 ล้านบาท

EARTH มีการจ่ายเงินค่าล่วงหน้าในการซื้อสินค้าไป 8,825 ล้านบาท จากปี 559 ที่มีแค่ 7,065 ล้านบาท มีเงินจองซื้อสินค้าในการรับซื้อถ่านหิน 11,681 ล้านบาท

มีสินทรัพย์ในเหมืองถ่านหิน 8,207 ล้านบาท มีสินทรัพย์หมุนเวียน 17,589 ล้านบาท สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 18,135 ล้านบาท

ฝั่งเจ้าหนี้นั้นมีเงินกู้เบิกเกินบัญชีที่ใช้ที่ดิน อาคารไปเป็นหลักทรัพย์อยู่ 10,730 ล้านบาท โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 6.275-6.8% มีเจ้าหนี้ตั๋วบี/อี และหุ้นกู้ 1,790 ล้านบาท มีเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่นๆ 1,333 ล้านบาท มีหนี้สินตามสัญญาเช่า 2 ล้านบาท สารตะแล้วมีหนี้สินในส่วนที่เป็นหนี้สินหมุนเวียนแค่ 16,763 ล้านบาท

ส่วนหนี้สินไม่หมุนเวียนรวมมีแค่  8,270 ล้านบาทเท่านั้น เป็นเงินกุ้ระยะยาว หุ้นกู้ เฉียด 7,900 ล้านบาท ที่เหลือเป็นสัญญาเช่ายาว

แล้วหนี้สินกลับเพิ่มขึ้นได้อย่างไรในเวลา 3-4 เดือน ร่วม 1.2 หมื่นล้านบาท

ผมมีความเชื่อว่ายักษ์ใหญ่ผู้ตรวจสอบบัญชีอย่าง PWC ไม่น่าจะตรวจสอบงบผิดพลาดขนาดนั้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้หรือไม่ว่าเจ้าของจะมีอะไรซ่อนเร้น หรือไม่ก็อาจจะสร้างซัพพลายเออร์ ขึ้นมาเพื่อเรียกค่าเสียหายจาก EARTH เพื่อสร้างซัพพลายเออร์ให้เป็น 1 ในเจ้าหนี้ เพื่อโหวตแผนฟื้นฟูแข่งกับเจ้าหนี้หลัก

เป็นไปได้หรือไม่ว่า คณะกรรมการ และคณะผู้บริหารอาจใช้วิธีการตั้งด้อยค่าทรัพย์สิน ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็น “เทคติก” ในทางบัญชีเพื่อสร้างเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้จากสิทธิการค้าที่จะมีผลให้เงินมัดจำล่วงหน้าในการซื้อสินค้า ที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้ว่ามีการจ่ายเงินค่าล่วงหน้าในการซื้อสินค้าไป 8,825 ล้านบาท จากปี 559 ที่มีแค่ 7,065 ล้านบาท มีเงินจองซื้อสินค้าในการรับซื้อถ่านหิน 11,681 ล้านบาท จะถูกริบ และเงินที่วางไว้โดยมีผู้รับการันตีอีกทอดหนึ่ง จะแปลงกายออกมาเป็นเจ้าหนี้ ที่มีมูลหนี้มากกว่าแบงก์...

เป้าหมายหลักจะอยู่ที่การโหวตแผนฟื้ฟู ที่ทางคณะผู้บริหารปักธงขอเป็นผู้บริหารกิจการแบบสะดวกโยธิน...แทนที่จะถูกเจ้าหนี้ สั่งลดทุน ลดหุ้นของส่วนผู้ถือหุ้นลงมาตามส่วน ก่อนจะลดหนี้แฮร์คัตให้ 35-40%

ไม่ว่าจะออกทางไหน ผมว่า ยักษ์ใหญ่ผู้ตรวจสอบบัญชีมีสิทธิ์หัวโกร๋นแน่นอน ถ้าด้อยค่าลูกหนี้การค้า เงินมัดจำสินค้าล่วงหน้า ด้อยค่าในเหมืองถ่านหิน  แสดงว่างบการเงินมีปัญหา

ในไม่ช้านี้ ผู้ที่จะตอบในเรื่องนี้ได้คือ คณะกรรมการบริษัทมหาชน ผู้ตรวจสอบบัญชีของ PWC และธนาคารเจ้าหนี้...โปรดจับตาทางออกในเรื่องนี้ให้ดี รับประกันสู้กันมันหยดในตลาดหุ้น ตลาดเงิน...

คอลัมน์ :ทางออกนอกตำรา / หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3283 ระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-2 ส.ค.2560

E-BOOK แดง