เอกชนลงทุนนอกวูบ 4 เดือนแรกหด 31% การเมือง-เศรษฐกิจป่วน

01 ส.ค. 2560 | 10:33 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยตัวเลขทุนไทยไปลงทุนนอก 4 เดือนแรก หดตัว 31% เหตุการเมือง เศรษฐกิจโลกผันผวน ชี้ไทยยังตบเท้าลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน หลังเศรษฐกิจฟื้นไม่ชัด-เงินบาทแข็งค่า

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตัวเลขในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Thai Direct Investment aboard : TDI) ไม่รวมการลงทุนในประเทศพวก Tax haven คิดเป็นมูลค่าราว 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ราว 31% การลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อาทิ ความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองจากการเลือกตั้งในสหภาพยุโรป โดยจะเห็นว่าตัวเลข TDI ไปยังกลุ่มยูโรโซน ลดลงประมาณ 25%

รวมทั้งแนวทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่ยังคลุมเคลือทำให้ตัวเลข TDI ไปยังสหรัฐฯ ลดลงถึง 44% ตลอดจนประเด็นความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่ส่งผลให้นักลงทุนไทยชะลอการลงทุนในต่างประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 2560

อย่างไรก็ตามภูมิภาคอาเซียน ยังคงเป็นภูมิภาคหลักที่ผู้ประกอบการไทยเลือกออกไปลงทุน โดยมูลค่าการลงทุนโดยตรงอยู่ที่กว่า 2,255 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวเพียงราว 16% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งประเทศที่นักลงทุนไทยเน้นการลงทุน ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นหลัก

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ผู้ประกอบการไทยเลือกออกไปลงทุนในช่วง 4เดือนแรก ยังคงเน้นไปในภาคบริการไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับค้าปลีกมีสัดส่วนประมาณ 27.8% และภาคการผลิต สัดส่วน 18.9% รวมถึงกิจกรรมทางการเงิน เช่น การเปิดสาขาของธนาคารไทยในต่างประเทศและการประกันภัย มีสัดส่วน 17%

MP28-3283-A ทั้งนี้หากพิจารณารูปแบบการเข้าไปลงทุนโดยตรงของผู้ประกอบการไทย จะเห็นว่ามูลค่าการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) ของไทยในต่างประเทศมีสัดส่วนลดลงเล็กน้อยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 โดยมูลค่า M&A ของไทยในต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 883 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (นับเฉพาะรายการที่ควบรวมเรียบร้อยแล้วมีรายละเอียดมูลค่ารายงาน) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 26% ของ TDI ทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า M&A อยู่ที่ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 30% ของ TDI ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามการลดลงของสัดส่วนการทำ M&A เป็นผลสืบเนื่องจากฐานที่สูงในปี 2559 จากธุรกรรมการเข้าซื้อกิจการ Big C ที่เวียดนามของกลุ่มเซ็นทรัลซึ่งมีมูลค่ากว่า1,050ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะยังมีความไม่แน่นอน ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าโดยเปรียบเทียบ ประกอบกับเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงไม่ฟื้นตัวดีนัก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเลือกที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ สะท้อนจากมูลค่าธุรกรรม M&A ที่รอควบรวมหรืออยู่ระหว่างเจรจา ที่ยังคงค้างกว่า 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (นับตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน 2560) นับว่าเป็นมูลค่าที่สูงเกือบเท่าตัวของมูลค่าธุรกรรม M&A ที่ควบรวมเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการไทยเลือกที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศนั้น ย่อมเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการขยายตลาด และมีเงินสดส่วนเกินสะสมสูง เช่น เกษตรแปรรูป ค้าปลีก-ค้าส่ง ท่องเที่ยว เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,283
วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560